ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีการจัดซื้อสินค้า และจัดจ้างบริการจากคู่ค้าและผู้รับเหมาในกิจกรรมหลักของการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และงานที่สนับสนุนการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม

ดังนั้น คุณภาพสินค้าและการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาจึงมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อบริษัทฯ ได้ รวมถึงการบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้าและผู้รับเหมายังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นในการเติบโตร่วมกันต่อไปในระยะยาว

ความเสี่ยง

การดำเนินงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีความเสี่ยงด้าน ESG สูง อาจเกิดการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ หรือส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เช่น ความปลอดภัย การจัดการของเสีย การใช้แรงงาน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ได้

โอกาส

การทำธุรกิจกับคู่ค้าที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้บริษัทฯ ลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของบริษัทฯ ด้วย

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มบริษัทอมตะ (AMATA Procurement Working Committee) นำโดย ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบัญชีและภาษี สายงานการเงิน สายงานนักลงทุนสัมพันธ์ และสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นประธาน

คณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รับผิดชอบในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานจริยธรรม เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มอมตะ ตลอดจนดำเนินการจัดทำและเผยแพร่คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) เพื่อสื่อสารเจตนารมณ์ของบริษัทฯที่จะทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนภายในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ ที่ครอบคลุมถึงคู่ค้า และผู้รับเหมา ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  และกำหนดแนวทางบริหารจัดการและกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับคู่ค้าและผู้รับเหมา แต่ละกลุ่ม และจัดให้มีการพัฒนายกระดับศักยภาพของคู่ค้าและผู้รับเหมา เพื่อลดความเสี่ยงด้านความยั่งยืนและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

บริษัทฯ กำหนดแนวทางดำเนินงานในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ดังนี้

ผลการดำเนินงาน

บริษัทฯ ได้แจ้งคู่ค้าและผู้รับเหมาทุกรายที่อยู่ในกลุ่มคู่ค้าสำคัญ (Critical suppliers) ให้ทราบถึงจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และคู่มือการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Manual) กลุ่มบริษัทอมตะ ตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมให้คู่ค้าตระหนักถึงความสำคัญและเป็นแนวปฏิบัติให้แก่คู่ค้าในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และโปร่งใส โดยครอบคลุมประเด็นดังนี้ 

จริยธรรมทางธุรกิจ

ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ, ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความถูกต้องและความซื่อสัตย์, ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น, เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้

หลักสิทธิมนุษยชน

การจ้างงานที่ถูกต้องและปฏิบัติตามกฎหมาย, การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับทุกรูปแบบ

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

ปฏิบัติตามกฎหมายด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย, จัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยให้เหมาะสมกับลักษณะงาน, บันทึกสถิติการเจ็บป่วยในงานและความรุนแรงรวมไปถึงมีการสื่อสารให้เข้าใจและปฏิบัติตาม

ความรับผิดชอบต่อสังคม

มีช่องทางการรับข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสียและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการทำงาน

ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้องบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม, มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำงาน, ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยในปี 2564 คู่ค้าสำคัญ (Critical Supplier) ร้อยละ 69 จากคู่ค้าสำคัญทั้งหมดได้ส่งแบบตอบรับรับทราบจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าของอมตะ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตาม คู่มือการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Manual) ของกลุ่มบริษัทอมตะ และมีผลการดำเนินการ ดังนี้ : 

1. การระบุกลุ่มคู่ค้าสำคัญ

ในปี  2564 บริษัทฯ มีคู่ค้าและผู้รับเหมาที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Tier-1 Supplier) จำนวนทั้งหมด 932 ราย บริษัทฯ ได้ทำการระบุกลุ่มคู่ค้าสำคัญ หรือ Critical Tier-1 Supplier ที่มีการทำธุรกิจกับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อระบุกลุ่มคู่ค้าสำคัญ ดังนี้

  1. เป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในร้อยละ 80 แรกของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด

  2. เป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบหลักหรือบริการที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

  3. เป็นคู่ค้าที่มีน้อยรายหรือไม่สามารถเปลี่ยนหรือทดแทนได้

ผลการระบุกลุ่มคู่ค้าสำคัญในปี 2564 พบว่ามีคู่ค้าและผู้รับเหมาสำคัญจำนวนรวม 71 ราย ซึ่งมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างคิดเป็นร้อยละ 87 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด จำแนกเป็นคู่ค้าสำคัญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และให้เช่าจำนวน 6 ราย และคู่ค้าสำคัญในธุรกิจสาธารณูปโภคและการบริการจำนวน 65 ราย คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายจำแนกตามกลุ่มธุรกิจหลักที่ร้อยละ 20 และ 80 ตามลำดับ

2.การประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน (Disclosure 308-2, 414-2)

บริษัทฯ มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้าโดยเริ่มที่คู่ค้าสำคัญเป็นลำดับแรกและคู่ค้าใหม่ทั้งหมด โดยวิธีประเมินตนเอง (Self-Assessment Questionnaire: SAQ) ที่ครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และจัดกลุ่มคู่ค้าที่มีความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ คู่ค้าที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูง (คะแนนประเมินตนเองน้อยกว่า 80%) บริษัทฯ จะมีการไปตรวจเยี่ยม (site visit) และตรวจประเมินที่สถานประกอบการ (ESG Audit) เพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการประเมินคุณภาพคู่ค้าประจำปีโดยฝ่ายจัดซื้อและหน่วยงานที่เป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการ แต่มีความถี่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงของคู่ค้า สำหรับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงระดับวิกฤตและระดับสูง คู่ค้าต้องจัดทำแผนมาตรการป้องกันแก้ไข โดยบริษัทฯ ช่วยให้คำแนะนำในการจัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาข้อบกพร่องต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า 

บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายให้คู่ค้าสำคัญและคู่ค้าใหม่ทั้งหมดได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ซึ่งในปี 2564 บริษัทฯ ได้ประเมินความเสี่ยงจากคู่ค้าและผู้รับเหมาในกลุ่มคู่ค้าสำคัญทั้งหมด 71 ราย (ร้อยละ 100) และคู่ค้าใหม่ทั้งหมด 8 ราย (ร้อยละ 100) เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่มีคู่ค้าสำคัญที่มีความเสี่ยงจากการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับสูงและวิกฤต และไม่มีคู่ค้าสำคัญที่มีความเสี่ยงในเรื่องการกำกับดูแลกิจการหรือด้านเศรษฐกิจในระดับสูงและวิกฤตเช่นกัน  บริษัทฯ มีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับคู่ค้าแต่ละราย และจัดให้มีการพัฒนาคู่ค้าเพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวให้กับคู่ค้าและผู้รับเหมา ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังไม่มีการยุติการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าและผู้รับเหมาที่ได้รับการประเมินแต่อย่างใด (ร้อยละ 0) (Disclosure 308-2, 414-2)

3. การตรวจประเมินคู่ค้า

คู่ค้าและผู้รับเหมาที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ทุกรายจะได้รับการประเมินผลงานประจำปีและประเมินความสัมพันธ์ของผู้ขายสินค้า/บริการรายนั้น ๆ กับบริษัทฯ คู่ค้าสำคัญที่ผ่าน การประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม จะได้รับการตรวจประเมินในสถานประกอบการครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม (ESG Audit) โดยมีรายละเอียดและความถี่ในการตรวจประเมินตามระดับความเสี่ยงของคู่ค้า ตามข้อกำหนดและรายการที่บริษัทฯ กำหนดไว้และมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO14001) ซึ่งแนวทางในการตรวจประเมินคู่ค้า กระทำโดยการตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องจากคู่ค้า การตอบแบบประเมินตนเองของคู่ค้า และการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ โดยคณะทำงานการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มบริษัทอมตะ

ในปี 2564 บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายในการตรวจประเมินคู่ค้าสำคัญ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม (ESG audit) ณ สถานประกอบการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของคู่ค้าสำคัญทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ สามารถดำเนินการตรวจประเมินได้จำนวน 56 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 ของคู่ค้าสำคัญทั้งหมด

4. การขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่

บริษัทฯ กำหนดแนวทางในการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าใหม่ประกอบด้วยกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและผลงานที่ผ่านมาของคู่ค้าและผู้รับเหมาก่อนการจัดซื้อจัดจ้าง ว่ามีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ และกำหนดให้คู่ค้าใหม่ทุกรายต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG โดยใช้แบบฟอร์มประเมินตนเองของคู่ค้า (Self-Assessment Questionnaire : SAQ) ก่อนขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่ หากผลคะแนนผ่านเกณฑ์และไม่พบประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม จะให้คู่ค้าใหม่ลงนามรับทราบจรรยาบรรณธุรกิจ (Supplier code of conduct) แล้วบันทึกชื่อคู่ค้าลงในทะเบียนคู่ค้าใหม่ แต่หากคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินหรือมีความเสี่ยง คู่ค้าต้องจัดทำมาตรการป้องกันหรือแก้ไขและแผนการตรวจติดตามที่ชัดเจนมาเสนอ จนคะแนนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้จึงจะได้รับการขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่

ปี 2564 บริษัทฯ มีคู่ค้าใหม่จำนวน 8 รายโดยผ่านระบบการคัดเลือกตามขั้นตอนที่ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 100 ของคู่ค้ารายใหม่

5. การพัฒนาคู่ค้า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาคู่ค้าและผู้รับเหมาในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญในธุรกิจสาธารณูปโภคและการบริการ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาให้ดียิ่งขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทฯ เช่น สนับสนุนให้คู่ค้าและผู้รับเหมาที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการหลักให้แก่บริษัทฯ มีการพัฒนาในกระบวนการดำเนินธุรกิจและได้รับการรับรองระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น ISO 9001 ISO 14001 ISO 17025 OSHA 18000 เป็นต้น 

  • วันที่ 30 เดือน มีนาคม 2564 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดการประชุมเรื่องการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตาม พรบ.น้ำปี 2561 ร่วมกับ Supplier หลักที่จำหน่ายน้ำดิบให้กับบริษัท  เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยว พรบ.น้ำ ปี 2561 และแนวทางการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำให้สอดคล้องกับข้อกำหนด

  • บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้สนับสนุนองค์ความรู้ และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานคู่ค้า เพื่อเข้ารับการประเมิน และผ่านการรับรองระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 9001)

  • วันที่ 2 ตุลาคม 2564 บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ได้จัดอบรมหลักสูตรฝึกซ้อมเก็บกู้การหกรั่วไหลของขยะมูลฝอย  ให้แก่พนักงานเก็บขนและคัดแยกขยะประจำโรงคัดแยกขยะของบริษัทผู้รับเหมา เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานของบริษัทผู้รับเหมา

  • วันที่ 18-19 ตุลาคม 2564 บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ได้จัดอบรมเรื่องการคัดแยกประเภทขยะ การแยกขยะติดเชื้อให้กับพนักงานของผู้รับเหมาที่ดำเนินการคัดแยกขยะมูลฝอย เพื่อส่งกำจัดอย่างถูกวิธีและปลอดภัย 

  • เมื่อวันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน 2564 บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ได้จัดอบรมหลักสูตรดับเพลิงขั้นต้นและอพยพหนีไฟ ให้กับพนักงานของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes