เพื่อให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับสร้างคุณค่า และมูลค่าต่อบริษัทฯ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ จึงได้ดำเนินกระบวนการการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมประเด็นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยพิจารณาประเด็นต่างๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก การเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในภูมิภาค ความต้องการและความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ การบริหารความเสี่ยงองค์กร ตลอดจนผลจากการประเมินต่าง ๆ และจัดลำดับความสำคัญของประเด็นโดยอ้างอิงตามหลักการ Materiality Principle และหลักการ Reporting Principle 4 ประการของมาตรฐาน Global Reporting Initiative (GRI Standards) ประกอบด้วย บริบทความยั่งยืน (Sustainability Context) ประเด็นที่มีนัยสำคัญ (Materiality) ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Completeness) และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) ผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนจะได้รับการพิจารณาทบทวนจากคณะทำงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคณะกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอมตะเป็นประจำทุกปี

ขั้นตอนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ทบทวนและปรับปรุงกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าการระบุประเด็น และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน มีความถูกต้องแม่นยำ สะท้อนบริบทของธุรกิจ ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 10 กลุ่ม และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยมีกระบวนการดังนี้

ขั้นที่ 1:

การระบุประเด็นด้านความยั่งยืนของผู้มีส่วนได้เสียและองค์กร
บริษัทฯ รวบรวมประเด็นด้านความยั่งยืนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผ่านช่องทางและวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม เช่น การประชุม การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แบบสอบถาม การสำรวจความผูกพัน และระบุประเด็นด้านความยั่งยืนในด้านการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จากการระดมสมอง และการประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้บริหาร และจากการพิจารณาปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อธุรกิจของบริษัทฯ เช่น การเปลี่ยนแปลงของโลกและการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค แนวโน้มและทิศทางด้านความยั่งยืน ประเด็นสำคัญของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใกล้เคียง ประเด็นที่กำหนดในมาตรฐานและแบบประเมินความยั่งยืนของอุตสาหกรรม และประเด็นที่เป็นข้อกังวลระดับโลก

ขั้นที่ 2:

การจัดลำดับความสำคัญ

บริษัทฯ นำประเด็นด้านความยั่งยืนที่ระบุได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสีย และต่อองค์กร โดยประเมินจากความสัมพันธ์ และระดับของผลกระทบต่อบริษัทฯ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ด้านการเงิน การดำเนินงาน ชื่อเสียง กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ และประเมินจากระดับผลกระทบหรืออิทธิพลของแต่ละประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย แล้วกำหนดประเด็นสำคัญลงในตาราง Materiality Matrix โดยอ้างอิงตามแนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI standards) 

แกนตั้ง (แกน Y) แสดงระดับความมีอิทธิพลของประเด็นที่มีผลต่อการประเมิน และการตัดสินใจของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย

แกนนอน (แกน X) แสดงระดับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในประเด็นนั้น หรือระดับความสำคัญของประเด็นที่มีต่อบริษัทฯ 

ในปี 2564 บริษัทฯ ได้มีการทบทวนและปรับปรุงประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ทำให้มีประเด็นด้านความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 26 ประเด็น และได้แบ่งประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเป็น 3 ระดับ ตามความสำคัญของประเด็นที่มีต่อบริษัทฯและผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ประเด็นที่มีความสำคัญมาก ปานกลาง และน้อย โดยบริษัทฯ มีประเด็นที่สำคัญมากจำนวน 17 ประเด็น เพิ่มขึ้นจาก 14 ประเด็นที่สำคัญมากที่รายงานในปี 2563  และได้ปรับเปลี่ยนชื่อบางประเด็นให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ขั้นที่ 3:

การให้เหตุผล

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนทั้ง 26 ประเด็น ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ (Disclosure 102-32) และคณะกรรมการบริษัทได้คัดเลือกประเด็นสำคัญเชิงกลยุทธ์ (Strategic Priority) จากประเด็นที่มีความสำคัญมาก เพื่อกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียในมิติต่าง ๆ และได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารดำเนินการตอบสนองทั้งประเด็นสำคัญเชิงกลยุทธ์และประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อไป ซึ่งได้มีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินงานทั้งระดับองค์กร ระดับฝ่าย และระดับโครงการ และเชื่อมโยงกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้องด้วย

Materiality Matrix

การเปิดเผยข้อมูลประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

(Disclosure 102-47)

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes