การกำกับดูแลกิจการที่ดี

ความเสี่ยง

การกำกับดูแลกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพจะสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียสำคัญหลายกลุ่มและอาจเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานที่ไม่มีการกำกับดูแลที่ดีได้ ซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบขาดความเชื่อมั่นและเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและความสามารถในการสร้างคุณค่าในอนาคตของบริษัทฯ

โอกาส

การกำกับดูแลกิจการให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความมั่นใจของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีผลต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ และความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

คณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลกิจการ โดยทำหน้าที่กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ ตรวจสอบความรับผิดชอบ และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวขององค์กร กำกับดูแลผลการดำเนินงานทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ควบคู่ไปกับการธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมทางธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร โดยมุ่งเน้นให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการบริษัทที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นขององค์กร สร้างความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ที่จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าในระยะยาว

คณะกรรมการทุกคนผ่านกระบวนการสรรหา โดยพิจารณาคุณสมบัติทางกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด โดยคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการในการสรรหาคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่หลากหลายตาม Board Skill Matrix โดยไม่กีดกันหรือจำกัดความแตกต่างด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือศาสนา รวมถึงมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรมและคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ มาปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการจำนวนรวมทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 2 คน และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 7 คน คิดเป็นสัดส่วนของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารต่อกรรมการทั้งหมดเท่ากับร้อยละ 77.78  และมีกรรมการอิสระจำนวน 6 คน คิดเป็น ร้อยละ 66.67 ของกรรมการทั้งหมด คณะกรรมการบริษัทเป็นกรรมการผู้ชายจำนวน 6 คน และกรรมการผู้หญิง 3 คน คิดเป็นสัดส่วนกรรมการผู้หญิงต่อกรรมการทั้งหมดเท่ากับร้อยละ 33.33

เนื่องจากประธานกรรมการไม่ได้เป็นกรรมการอิสระและเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ที่รักษาการตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ จึงจัดให้มีกลไกในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ โดยปรับเพิ่มสัดส่วนของกรรมการอิสระให้มีกรรมการอิสระเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อเสริมสร้างมุมมองที่เป็นอิสระให้มีมากยิ่งขึ้น และแต่งตั้งกรรมการอิสระคนหนึ่งร่วมพิจารณากำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการ

ตารางความรู้ความชำนาญของคณะกรรมการ (Board Skills Matrix)

นายวิกรม กรมดิษฐ์

  • ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
  • ด้านการตลาด / พัฒนาธุรกิจ
  • ด้านกลยุทธ์

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง

  • ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
  • ด้านการกำกับดูแลกิจการ
  • ด้านการบริหารความเสี่ยง
  • ด้านกลยุทธ์

นายอนุชา สิหนาทกถากุล

  • ด้านการกำกับดูแลกิจการ
  • ด้านการตลาด / พัฒนาธุรกิจ
  • ด้านการบริหารความเสี่ยง
  • ด้านการเงิน / บัญชี

นายนพพันธป์ เมืองโคตร

  • ด้านการกำกับดูแลกิจการ
  • ด้านกฎหมาย

รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ

  • ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
  • ด้านเทคโนโลยี

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช

  • ด้านเทคโนโลยี
  • ด้านการบริหารความเสี่ยง
  • ด้านกลยุทธ์

นายนิธิ ภัทรโชค

  • ด้านเทคโนโลยี
  • ด้านการกำกับดูแลกิจการ
  • ด้านการบริหารความเสี่ยง
  • ด้านกลยุทธ์

นางกิตติยา โตธนะเกษม

  • ด้านการกำกับดูแลกิจการ
  • ด้านการบริหารความเสี่ยง
  • ด้านกลยุทธ์
  • ด้านการเงิน / บัญชี

นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ

  • ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
  • ด้านเทคโนโลยี
  • ด้านการตลาด / พัฒนาธุรกิจ
  • ด้านการบริหารความเสี่ยง
  • ด้านการเงิน / บัญชี

รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการปรากฏในแบบแสดงข้อมูลประจำปี / รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) หัวข้อ โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการฯ”

ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ

การพัฒนากลไกการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการบริษัทได้มีการประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและพิจารณาปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลกิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในปี 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขนโยบายการกำกับดูแลกิจการ รวมถึงนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องจำนวนรวม 34 นโยบาย ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานระดับสากล คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 2/2024 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (รายละเอียดปรากฏในแบบ 56-1 One Report หัวข้อ “รายงานผลการดำเนินงานสำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ”)

เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละ 1 ครั้ง โดยใช้แบบประเมินผลการทำงาน (Self-Assessment Form) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการประเมินประกอบด้วย การประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการรายบุคคล คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการทั้งคณะ ซึ่งผลการประเมินและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประเมินจะถูกนำไปปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียต่อไป

การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการบริษัท

บริษัทฯ ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของคณะกรรมการบริษัท จึงสนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทเข้าร่วมการฝึกอบรมและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฯ ต่อไป ในปี 2567 มีกรรมการเข้ารับการอบรม ดังนี้

  1. นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ เข้าร่วมการอบรมหลักสูตรกรรมการ Director Certification Program (DCP) 370/2024 จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

การประชุมของคณะกรรมการบริษัทเพื่อติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2567

คณะกรรมการบริษัทได้มีการประชุมเพื่อติดตามงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ จำนวน 3 ครั้ง โดยประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอมตะได้รายงานความคืบหน้า ในการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ให้คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบและพิจารณาให้คำแนะนำในการตอบสนองต่อประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายองค์กรและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (Sustainability Corporate Goal and KPIs) ซึ่งกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้นำบริษัทและผู้บริหารระดับสูงต่อไป นอกเหนือจากตัวชี้วัดทางการเงิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดย่อยยังได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย คณะกรรมการการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวน 2 ครั้ง และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจำนวน 4 ครั้ง โดยประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอมตะ ได้รายงานสรุปผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ให้คณะกรรมการการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้รับทราบ และให้คำแนะนำ รวมถึงพิจารณาแนวทางบริหารจัดการประเด็นสำคัญเชิงกลยุทธ์ และนำข้อมูลประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงเพื่อคัดเลือกและระบุประเด็นความเสี่ยงขององค์กรต่อไป

ร่วมสร้างอนาคต
ไปกับอมตะ

ร่วมสร้างอนาคต
ไปกับอมตะ

ติดต่อเราเพิ่มเติม

ประเทศไทย
+66 38 939 007
เวียดนาม

+84 251 3991 007 (ใต้)
+84 203 3567 007 (เหนือ)

พม่า

+95 1 230 5627

ลาว
+85 620 5758 0007