ความเสี่ยง

บริษัทฯ มีการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการจากคู่ค้าและผู้รับเหมาในกิจกรรมหลักของการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และงานที่สนับสนุนการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น คุณภาพสินค้าและการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาจึงส่งผลกระทบโดยตรงทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ การดำเนินงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีความเสี่ยงด้าน ESG สูง อาจเกิดการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ หรือส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เช่น การจัดการของเสีย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงบริษัทฯ อาจมีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาได้หากไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่ดี ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ได้ นอกเหนือจากคุณภาพของงานและระยะเวลาส่งมอบงานที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยตรงต่อบริษัทฯ

โอกาส

การบริหารจัดการคู่ค้าและผู้รับเหมาอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้บริษัทฯ ลดความเสี่ยงและผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของบริษัทฯ ที่ทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การคัดกรองและพัฒนาคู่ค้าและผู้รับเหมาจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของคู่ค้าและผู้รับเหมาให้สนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ และเติบโตร่วมกันต่อไปในระยะยาว 

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มบริษัทอมตะ (AMATA Procurement Working Committee) นำโดย ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบัญชีและภาษี สายงานการเงิน สายงานนักลงทุนสัมพันธ์ และสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นประธาน

คณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ และบริษัทย่อย รับผิดชอบในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานจริยธรรม เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มอมตะ ตลอดจนดำเนินการจัดทำและเผยแพร่คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) เพื่อสื่อสารเจตนารมณ์ของบริษัทฯที่จะทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนภายในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ ที่ครอบคลุมถึงคู่ค้า และผู้รับเหมา ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  และกำหนดแนวทางบริหารจัดการและกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับคู่ค้าและผู้รับเหมา แต่ละกลุ่ม และจัดให้มีการพัฒนายกระดับศักยภาพของคู่ค้าและผู้รับเหมา เพื่อลดความเสี่ยงด้านความยั่งยืนและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

บริษัทฯ กำหนดแนวทางดำเนินงานในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ดังนี้

ผลการดำเนินงาน

บริษัทฯ ได้แจ้งคู่ค้าและผู้รับเหมาทุกรายที่อยู่ในกลุ่มคู่ค้าสำคัญ (Critical suppliers) ให้ทราบถึงจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และคู่มือการจัดซื้จัดจ้าง (Procurement Manual) กลุ่มบริษัทอมตะ ตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมให้คู่ค้าตระหนักถึงความสำคัญและเป็นแนวปฏิบัติให้แก่คู่ค้าในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และโปร่งใส โดยครอบคลุมประเด็นดังนี้  

จริยธรรมทางธุรกิจ

ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ, ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความถูกต้องและความซื่อสัตย์, ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น, เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้

หลักสิทธิมนุษยชน

การจ้างงานที่ถูกต้องและปฏิบัติตามกฎหมาย, การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับทุกรูปแบบ

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

ปฏิบัติตามกฎหมายด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย, จัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยให้เหมาะสมกับลักษณะงาน, บันทึกสถิติการเจ็บป่วยในงานและความรุนแรงรวมไปถึงมีการสื่อสารให้เข้าใจและปฏิบัติตาม

ความรับผิดชอบต่อสังคม

มีช่องทางการรับข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสียและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการทำงาน

ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้องบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม, มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำงาน, ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยในปี 2565 คู่ค้าสำคัญ (Critical Supplier) ร้อยละ 80 จากคู่ค้าสำคัญทั้งหมดได้ส่งแบบตอบรับรับทราบจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าของอมตะ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตาม คู่มือการจัดซื้จัดจ้าง (Procurement Manual) ของกลุ่มบริษัทอมตะ และมีผลการดำเนินการตามแนวทางดังนี้ 

1. การระบุกลุ่มคู่ค้าสำคัญ

ในปี  2565 บริษัทฯ มีคู่ค้าและผู้รับเหมาที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Tier-1 Supplier) จำนวนทั้งหมด 527 ราย  จำแนกเป็นกลุ่มคู่ค้าสำคัญ หรือ Critical Tier-1 Supplier ที่มีการทำธุรกิจกับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีลักษณะเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในร้อยละ 80 แรกของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด หรือเป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบหลักหรือบริการที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือเป็นคู่ค้าที่มีน้อยรายหรือไม่สามารถเปลี่ยนหรือทดแทนได้ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอย่างน้อย  

ในปี 2565 พบว่ามีคู่ค้าและผู้รับเหมาที่อยู่ในกลุ่มคู่ค้าสำคัญ จำนวนรวม 85 ราย ซึ่งมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด จำแนกเป็นคู่ค้าสำคัญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และให้เช่าจำนวน 11 ราย และคู่ค้าสำคัญในธุรกิจสาธารณูปโภคและการบริการจำนวน 74 ราย คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายจำแนกตามกลุ่มธุรกิจหลักที่ร้อยละ 7 และ 93 ตามลำดับ 

2.การประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทฯ มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้าโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคู่ค้าสำคัญเป็นลำดับแรกและคู่ค้าใหม่ทั้งหมด โดยใช้แบบประเมินตนเอง (Self-Assessment Questionnaire: SAQ) ที่ครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล และจัดกลุ่มคู่ค้าที่มีความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ คู่ค้าที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูง (คะแนนประเมินตนเองน้อยกว่า 80%) บริษัทฯ จะมีการไปตรวจเยี่ยม (site visit) และตรวจประเมินที่สถานประกอบการ (ESG Audit) เพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการประเมินคุณภาพคู่ค้าประจำปีโดยฝ่ายจัดซื้อและหน่วยงานที่เป็นผู้ใช้สินค้าหรือบริการ แต่มีความถี่แตกต่างกันตามระดับความเสี่ยงของคู่ค้า สำหรับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงระดับสูง คู่ค้าต้องจัดทำแผนมาตรการป้องกันแก้ไข โดยบริษัทฯ จะช่วยให้คำแนะนำในการจัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาข้อบกพร่องต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า  

บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายให้คู่ค้าสำคัญและคู่ค้าใหม่ทั้งหมดได้รับการประเมินความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านความยั่งยืนในการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วยประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ทำการประเมินความเสี่ยงจากคู่ค้าและผู้รับเหมาในกลุ่มคู่ค้าสำคัญทั้งหมด 85 ราย (ร้อยละ 100) และคู่ค้าใหม่ทั้งหมด 11 ราย (ร้อยละ 100) เป็นไปตามเป้าหมาย พบว่าไม่มีคู่ค้าสำคัญรายใดมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ แต่มีคู่ค้าสำคัญจำนวน 1 รายที่มีความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาลในระดับสูง เป็นความเสี่ยงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า เนื่องจากยังไม่มีนโยบายและการจัดการที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีมาตรการการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้า คิดเป็นร้อยละ 1.17 ของคู่ค้าสำคัญทั้งหมด บริษัทฯ จึงได้ทำการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการทันทีและกำหนดให้คู่ค้าจัดทำเอกสารนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงให้ประกาศใช้ในองค์กรของคู่ค้าเพื่อให้พนักงานรับทราบและปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งหน่วยงานจัดซื้อและหน่วยงานของบริษัทฯ ที่ใช้บริการของคู่ค้ารายนี้จะตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการอีกครั้งในปี 2566

3. การตรวจประเมินคู่ค้า

บริษัทฯ กำหนดให้คู่ค้าสำคัญทุกรายที่ผ่านการประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและด้านความยั่งยืนด้วยวิธีประเมินตนเอง (Self-Assessment Questionnaire: SAQ) แล้ว จะได้รับการตรวจประเมินในสถานประกอบการครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (On-site ESG Audit) ต่อไป โดยมีรายละเอียดและความถี่ในการตรวจประเมินตามระดับความเสี่ยงของคู่ค้า ในกรณีที่คู่ค้าสำคัญมีระดับความเสี่ยงสูง จะต้องถูกตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการทันที คู่ค้าสำคัญที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางจะได้รับการตรวจประเมินปีละ 1 ครั้ง และคู่ค้าสำคัญที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับการตรวจประเมินทุก 2 ปี ตามข้อกำหนดและรายการที่บริษัทฯ กำหนดไว้และมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO14001) ซึ่งแนวทางในการตรวจประเมินคู่ค้า กระทำโดยการตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องจากคู่ค้าและการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโดยคณะทำงานการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มบริษัทอมตะ 

ในปี 2565 บริษัทฯ มีคู่ค้าสำคัญที่ต้องถูกตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวนรวม 11 ราย ซึ่งบริษัทฯ สามารถดำเนินการตรวจประเมินได้ครบทั้ง 11 ราย (ร้อยละ 100)

นอกจากนี้บริษัทฯ กำหนดให้คู่ค้าและผู้รับเหมาที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ทุกรายได้รับการประเมินผลงานประจำปีและประเมินความสัมพันธ์ของผู้ขายสินค้า/บริการรายนั้น ๆ กับบริษัทฯ หลังจากการดำเนินการเสร็จสิ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งต่อไปด้วย

บริษัทฯ มีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับคู่ค้าแต่ละราย และจัดให้มีการพัฒนาคู่ค้าเพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวให้กับคู่ค้าและผู้รับเหมา ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังไม่มีการยุติการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าและผู้รับเหมาที่ได้รับการประเมินแต่อย่างใด (ร้อยละ 0)

4. การขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่

บริษัทฯ กำหนดแนวทางในการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าใหม่ประกอบด้วยกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและผลงานที่ผ่านมาของคู่ค้าและผู้รับเหมาก่อนการจัดซื้อจัดจ้าง ว่ามีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ และกำหนดให้คู่ค้าใหม่ทุกรายต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG Risks) โดยใช้แบบฟอร์มประเมินตนเองของคู่ค้า (Self-Assessment Questionnaire : SAQ) ก่อนขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่ หากผลคะแนนผ่านเกณฑ์และไม่พบประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล จะให้คู่ค้าใหม่ลงนามรับทราบจรรยาบรรณธุรกิจ (Supplier code of conduct) แล้วบันทึกชื่อคู่ค้าลงในทะเบียนคู่ค้าใหม่ แต่หากคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินหรือมีความเสี่ยง คู่ค้าต้องจัดทำมาตรการป้องกันหรือแก้ไขและแผนการตรวจติดตามที่ชัดเจนมาเสนอ จนคะแนนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้จึงจะได้รับการขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่ 

ปี 2565 บริษัทฯ มีคู่ค้าใหม่จำนวน 11 รายโดยผ่านระบบการคัดเลือกตามกระบวนการที่กำหนดไว้คิดเป็นร้อยละ 100 ของคู่ค้ารายใหม่ 

5. การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคู่ค้าและการพัฒนาคู่ค้า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมกับคู่ค้า เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องด้านการจัดการเงินสดและการบริหารเงินทุนทั้งของคู่ค้าและของบริษัทฯ  บริษัทฯ จึงได้พิจารณาถึงข้อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงและข้อผูกพันที่มีต่อคู่ค้าด้วยระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่ยึดหลักความเป็นธรรมและความเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ กำหนดนโยบายระยะเวลาสินเชื่อการค้า (Credit Term Policy) เพื่อจ่ายเงินให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30-45 วัน โดยบริษัทฯ ใช้วิธีการจ่ายเงินผ่านช่องทางธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คู่ค้ามีความเชื่อมั่นและสามารถรับเงินได้ตามกรอบเวลาของนโยบายที่บริษัทกำหนดได้  แต่อย่างไรก็ตามระยะเวลาการจ่ายเงินอาจไม่เป็นไปตามนโยบาย เนื่องจากข้อจำกัดของแต่ละธุรกิจและปัจจัยต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ชนิดของประเภทธุรกิจของสินค้าและการให้บริการ ระยะเวลาตามสัญญากับคู่ค้า คุณภาพมาตรฐานของสินค้าและการให้บริการ เป็นต้น ข้อมูลระยะเวลาเฉลี่ยสินเชื่อการค้า (Credit Term) ของบริษัทฯ ในส่วนของสินค้าและการให้บริการมีรายละเอียดดังนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาคู่ค้าและผู้รับเหมาในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญในธุรกิจสาธารณูปโภคและการบริการ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาให้ดียิ่งขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทฯ เช่น สนับสนุนให้คู่ค้าและผู้รับเหมาที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการหลักให้แก่บริษัทฯ มีการพัฒนาในกระบวนการดำเนินธุรกิจและได้รับการรับรองระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น ISO 9001 ISO 14001 ISO 17025 OSHA 18000 เป็นต้น  

  • วันที่ 26 มิถุนายน 2565 บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ได้จัดอบรมหลักสูตรฝึกซ้อมเก็บกู้การหกรั่วไหลของขยะมูลฝอย  ให้แก่พนักงานเก็บขนและคัดแยกขยะประจำโรงคัดแยกขยะของบริษัทผู้รับเหมา เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม และยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานของบริษัทผู้รับเหมา 
  • วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ได้จัดอบรมเรื่องการขับรถ Forklift อย่างปลอดภัยและถูกวิธี ให้กับพนักงานของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ 
  • วันที่ 24 กันยายน 2565 บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ได้จัดอบรมหลักสูตรดับเพลิงขั้นต้นและอพยพหนีไฟ ให้กับพนักงานของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ 
  • วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้เชิญคู่ค้าเข้าเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมฯ 
  • วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดการประชุมใหญ่สมาชิกองค์กรผู้ใช้น้ำ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อรายงานผลการดำเนินการประจำปี 2565
  • วันที่ 8 ธันวาคม 2565 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำในปี 2566 ในรูปแบบ Webinar เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะรับทราบ
  • วันที่ 4 มกราคม 2566 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดการประชุมใหญ่สมาชิกองค์กรผู้ใช้น้ำ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อรายงานผลการดำเนินการประจำปี 2565  

 

 

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes