การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถมองเห็นและตอบสนอง (Sense and Response) ต่อประเด็นความเสี่ยงต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมในปัจจุบันได้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่มีผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจ ลดโอกาสที่ความเสี่ยงจะเกิดขึ้น หรือลดผลกระทบเชิงลบกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น และให้ได้มาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯและผู้มีส่วนได้เสีย
การบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และกำกับดูแลการทำงานของคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วยกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจำนวน 7 คน โดยมีกรรมการอิสระเป็นประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงปรากฏในแบบแสดงข้อมูลประจำปี / รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) หัวข้อ “โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ และการบริหารจัดการความเสี่ยง” )
และเพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ครอบคลุมทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อนโยบายหลักของบริษัทฯ ด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management Working Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารและตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ และกรรมการผู้จัดการบริษัทย่อย จำนวนรวม 24 คน โดยมีผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบัญชีและภาษี สายงานการเงิน สายงานนักลงทุนสัมพันธ์ และสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธาน คณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กรมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
บริษัทฯ กำหนดให้การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นความรับผิดชอบของพนักงานในทุกระดับ ที่ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีในห่วงโซ่ธุรกิจขององค์กร และในขั้นตอนการปฏิบัติงานในหน่วยงานของตน โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเพียงพอ ดังนั้น ทุกฝ่ายภายในบริษัทฯ และบริษัทย่อยจึงได้กำหนดให้มีผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานความเสี่ยงในระดับปฏิบัติการ ทำงานร่วมกับคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กรในการระบุความเสี่ยงและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและติดตามผล โดยมีฝ่ายกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือ ตลอดจนส่งเสริมให้แต่พนักงานในแต่ละฝ่ายและบริษัทย่อยตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงและมีส่วนร่วมในการจัดการความเสี่ยงในส่วนงานรับผิดชอบของตนเอง
แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง
บริษัทฯ กำหนดให้มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กรที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีตามแนวปฏิบัติสากล เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของกลุ่มอมตะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาและปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน โดยนำระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ การวางแผนกลยุทธ์ แผนงาน และการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้
การบริหารจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management) ของบริษัทฯ ใช้แนวทางของ The Committee of Sponsoring Organization หรือ COSO (Disclosure 102-11) บริษัทฯ ทำการทบทวนและประเมินความเสี่ยงองค์กรเป็นประจำทุกปี โดยพิจารณาทบทวนประเด็นความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และระบุประเด็นความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จากภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันของธุรกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ นโยบายและกฎระเบียบของรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ได้นำประเด็นต่างๆมาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม และกำหนดตัวชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator: KRI) และค่าความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) เพื่อติดตามผลการจัดการความเสี่ยงและประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมความเสี่ยง ตลอดจนพิจารณาโอกาสทางธุรกิจจากปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ และได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของความเสี่ยงระดับองค์กรจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวพร้อมกับกำหนดตัวชี้วัดด้านความเสี่ยง
คณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กรติดตามผลการตอบสนองต่อความเสี่ยงและติดตามสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง และรายงานผลสรุปในที่ประชุมคณะผู้บริหาร (Management Meeting) ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่ทุกคน และกรรมการผู้จัดการบริษัทย่อย และรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในทุกระดับ ดังนั้น บริษัทฯ จึงสร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมองค์กรด้านการบริหารความเสี่ยงให้แก่พนักงานทุกระดับ โดยการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม เป็นต้น
ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ทบทวนประเด็นความเสี่ยงหลักขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ตลอดจนสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญความเสี่ยงของประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อบริษัทฯ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG-related Risk) และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) มากขึ้น คณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กรได้จำแนกความเสี่ยงเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (Operational Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ (Compliance Risk) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) และได้ทบทวนและปรับปรุงแผนบริหารความเสี่ยงองค์กรและตัวชี้วัดความเสี่ยง (key risk indicators: KRI) เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการเกิดขึ้นของความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายการดำเนินการเรื่องความเสี่ยงลงไปในระดับหน่วยธุรกิจให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในบริษัทฯ ต่อไป
ความปกติใหม่ (new normal) หมายถึงรูปแบบการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ ทัศนคติและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ของบริษัทฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 บริษัทฯ คาดว่าความปกติใหม่จะเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของโลกในด้านต่างๆ อาทิ ความต้องการสินค้า นโยบายทางการค้า ลักษณะห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนไป การใช้แรงงานผลิต นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต ทรัพยากรบุคคล เป็นต้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ผู้ประกอบการผลิตอาจจะต้องปรับนโยบายในการดำเนินธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ชะลอการพิจารณาตัดสินใจลงทุน หรืออาจมีความต้องการใหม่เพิ่มเติมนอกเหนือจากเดิมในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ในด้านรายได้ นอกจากนี้ ความปกติใหม่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทฯ ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้หากไม่ได้เตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างเหมาะสม
การส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารและพนักงานในการบริหารจัดการความเสี่ยงในองค์กร โดยเฉพาะการจัดการความเสี่ยงในหน้าที่และความรับผิดชอบในภารกิจปกติเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะต้องการให้ระบบบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามภารกิจปกติจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรในที่สุด นอกจากผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานและบริษัทย่อยที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการความเสี่ยงในหน่วยงานนั้น ๆ แล้ว ยังมีพนักงานที่เป็นตัวแทนรับผิดชอบงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร และนำไปถ่ายทอดให้แก่พนักงานในระดับปฏิบัติการต่อไป
ในปี 2564 บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กรให้กับพนักงานทุกระดับ สามารถจำแนกรูปแบบการดำเนินออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) EDUCATE การสร้างความรู้ความเข้าใจ 2) PARTICIPATE การสร้างการมีส่วนร่วม 3) MANAGE การจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ และ 4) ENCOURAGE การบูรณาการการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำงาน
บริษัทฯ ตระหนักดีว่าความรู้ความเข้าใจของพนักงานทุกคนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กรมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการความเสี่ยง บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ และการบรรยายพิเศษในหัวข้อที่เกี่ยวข้องในแต่ละความเสี่ยง โดยบริษัทฯ กำหนดให้มีการจัดการอบรม และการบรรยายพิเศษเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี ผลการดำเนินงานในปี 2564 ได้แก่
บริษัทฯ จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Workshop) จำนวน 24 ครั้ง ตลอดทั้งปี ให้กับคณะทำงานบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับฝ่ายและแผนก และพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กร การกำหนดตัวชี้วัดความเสี่ยงและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นอกจากนี้คณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง (Risk Mitigation Plan) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดความเสี่ยง และการติดตามการดำเนินงานตามแผนการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
การบริหารจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management) ของบริษัทฯ ใช้แนวทางของ The Committee of Sponsoring Organization หรือ COSO โดยกำหนดให้มีการกำกับดูแลภายในอย่างเป็นระบบตามแนวทางการป้องกันความเสี่ยง 3 ระดับ (3 Lines of Defense) ประกอบด้วยหน่วยงานผู้รับผิดชอบความเสี่ยงเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง (1st Line of Defense) หน่วยงานกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นผู้ กำหนดแนวทางและมาตรฐานการด้านบริหารความเสี่ยง และติดตามดูแลการดำเนินงาน (2nd Line of Defense) และหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นผู้ ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบบริหารความเสี่ยงขององค์กรโดยอิสระ (3rd Line of Defense) โดยผลการดำเนินงานจะถูกรายงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ต่อผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาตามลำดับ
ในปี 2564 บริษัทฯ ได้มีรายงานผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริหารระดับสูง รวม 12 ครั้ง และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงรวม 5 ครั้ง
+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)
+85 620 5758 0007
© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved. Web by Toneyes