ความเสี่ยง

บริษัทฯ ดูแลพื้นที่เมืองขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก หากบริษัทฯ ไม่มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน  หรือกลไกควบคุมการดำเนินงานที่ดีทั้งของบริษัทฯ เอง และคู่ค้าของบริษัทฯ อาจทำให้บริษัทฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและระดับสากล 

โอกาส

หากบริษัทฯ มีการประเมินความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงใการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดจากกิจกรรมของบริษัทฯ หรือคู่ค้าและผู้รับเหมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่มีต่อบริษัทฯ 

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามหลักปรัชญา “ALL WIN” เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีบทบาทสำคัญทั้งการเป็นผู้ส่งเสริมผลกระทบเชิงบวกในด้านสิทธิมนุษยชน จากการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น การสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภคและการบริการพื้นฐานที่ดี แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมก็มีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ได้เช่นกัน จากการสร้างมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและรบกวนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ลักษณะการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัยเป็นอันตรายต่อพนักงาน แรงงาน หรือคนในชุมชนที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน การละเลยผลกระทบต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าว อาจมีผลทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ หรือถูกต่อต้านจากสังคม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการในอนาคตก็เป็นได้ 

บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายด้านสังคม ได้แก่ “นโยบายสิทธิมนุษยชน” “นโยบายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย” “นโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล” “นโยบายความปลอดภัยและอาชีวอนามัย” และ “นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยได้ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในและต่างประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ และกำหนดกรอบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยการดําเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) และแนวทางการตรวจสอบอย่างรอบด้านสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (OECD Due Diligence Guidance For Responsible Business Conduct) โดยสามารถดูนโยบายและแนวปฏิบัติฉบับเต็มที่ www.amata.com  

บริษัทฯ กำหนดให้ คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ต้องตระหนักถึงความสำคัญและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในทุกด้านของบุคคลทุกคน ทั้งต่อพนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและผู้รับเหมา ชุมชน ตลอดจนสังคมโดยรวม ตามกฎหมายแต่ละประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ และพร้อมสนับสนุนตามสนธิสัญญาที่แต่ละประเทศมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติ โดยรวมถึงหลีกเลี่ยงการกระทำและการมีส่วนร่วมในการอันละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือสร้างผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชน 

ในปี 2565 บริษัทฯ บริษัทฯ ได้บูรณาการการบ่งชี้และประเมินความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าไปในกระบวนการประเมินความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบที่แต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตน เช่น การวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ในการพัฒนาโครงการการบ่งชี้และประเมินประเด็นสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประเมินอันตรายและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ตามมาตรฐาน ISO บริษัทฯ ได้ทำการประเมินและตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ตามหลักการชี้นำของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) โดยบูรณาการเข้าในกระบวนการการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการระบุประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียหลักแต่ละกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วหรือมีโอกาสจะเกิดในอนาคต โดยครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่า (ร้อยละ 100) และระบุแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองหรือป้องกันการเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นดังกล่าว

กระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

StakeholderHuman Rights IssueCompany’s Implementation of Human Rights Impact Reduction
พนักงาน

สิทธิแรงงาน

  • สุขภาพและความปลอดภัย
  • สภาพการจ้างงาน
  • ความเท่าเทียมกัน
  • เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรอง
  • ปฏิบัติต่อพนักงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ตามหลักกฎหมายแรงงานในประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจและหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเสมอภาค (Equality) และการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) ในทุกมิติ

  • จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงานตามนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม 

  • จัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการที่มีพนักงานร่วมเป็นกรรมการ

ชุมชน

สิทธิชุมชน

  • สุขภาพและความปลอดภัย
  • สิ่งแวดล้อม
  • รับฟังความคิดเห็นและติดตามสำรวจผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีต่อชุมชนโดยรอบ

  • ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน 

  • เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือร้องเรียนในช่องทางต่างๆ รวมถึงการร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อร่วมกันดูแลความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมโดยรวมในพื้นที่ 
  • ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และจัดเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ 
ลูกค้า

สิทธิของลูกค้า/ผู้บริโภค

  • คุณภาพสินค้าและบริการ
  • สุขภาพและความปลอดภัย
  • ส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และสามารถทวนสอบย้อนกลับได้ (traceability)  

  • มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการจัดการข้อร้องเรียนจากลูกค้า  

  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด   

  • จัดเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ

พนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น คู่ธุรกิจ

สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

  • ประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อเป็นมาตรฐานการจัดการและแนวปฏิบัติที่ดี 
  • จัดให้มีกระบวนการควบคุมการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและความลับทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายและนโยบาย 
  • ประกาศนโยบายการรักษาความลับและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ป้องกันการเข้าถึง การใช้ การเปิดเผย หรือการแก้ไขข้อมูลโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจ 
  • ฝึกอบรมพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและมีการติดตามตรวจสอบเป็นประจำ 
คู่ค้าและผู้รับเหมา

สิทธิของคู่ค้าและผู้รับเหมา

  • สุขภาพและความปลอดภัย
  • ปฏิบัติต่อคู่ค้าด้วยความเสมอภาค (Equality) ยุติธรรม โปร่งใส และการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination)  
  • ดูแลสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานให้มีความมั่นคงปลอดภัย  
  • กำหนดให้คู่ค้าและผู้รับเหมาปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด  
แรงงานของคู่ค้าและผู้รับเหมา

สิทธิแรงงาน

  • สุขภาพและความปลอดภัย
  • สภาพการจ้างงาน
  • ประกาศจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าของอมตะ (Supplier Code of Conduct) ให้คู่ค้าและผู้รับเหมารับทราบและปฏิบัติให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และแนวทางปฏิบัติของบริษัทฯ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติต่อแรงงาน 
  • ตรวจประเมินความเสี่ยงด้านการปฏิบัติต่อแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมารายสำคัญและรายใหม่ก่อนการว่าจ้าง  
  • ตรวจติดตามการปฏิบัติงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาทั้งด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ  
  • กำหนดให้คู่ค้าและผู้รับเหมามีมาตรการป้องกันและรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น 
ชุมชน

สิทธิชุมชน

  • สุขภาพและความปลอดภัย
  • สิ่งแวดล้อม
  • สำรวจและรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในเรื่องผลกระทบจากการดำเนินงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาที่มีต่อชุมชนโดยรอบ  
  • ตรวจติดตามการปฏิบัติงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาทั้งด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ 
  • กำหนดให้คู่ค้าและผู้รับเหมามีมาตรการป้องกันและรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น 

แนวทางการบริหารจัดการด้านสิทธิเด็ก

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยึดปรัชญา ALL WIN ในการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายให้ผู้มีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ ได้รับประโยชน์และเติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ อย่างยั่งยืนในทุกมิติ แม้ว่า ประเด็นด้านสิทธิเด็ก จะยังไม่ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ แต่การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมที่บริษัทฯ ดำเนินการในทุกพื้นที่ย่อมเกี่ยวข้องทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ต่อคุณภาพชีวิต โอกาส และการเจริญเติบโตในสังคมของเด็ก ที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง อีกทั้งในปัจจุบัน ประเด็นด้านสิทธิเด็กถูกให้ความสำคัญในระดับสากล บริษัทฯ จึงคำนึงถึงการดำเนินงานที่เคารพต่อสิทธิเด็กตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจด้วย 

บริษัทฯ ได้ใช้หลักการ “สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ” (Children’s Right and Business Principle; CRBP) โดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มาเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เคารพต่อสิทธิเด็ก ประกอบไปด้วย 4 หลักการที่ธุรกิจจะสร้างผลกระทบต่อเด็กคือ 1) การสนับสนุนให้เด็กสมารถดำรงชีวิตได้ (Survival) 2) การปกป้องเด็กจากความรุนแรง (Protection) 3) การพัฒนาที่เหมาะสม (Development) และ 4) การเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม (Participation)  โดยกำหนดกรอบการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองสมบูรณ์แบบที่สร้างโอกาสให้กับเด็ก และตอบสนองต่อหลักการ CRBP ดังนี้

เมืองแห่งความปลอดภัย (Safety City)

เพื่อสร้างสังคมที่ร่วมป้องกัน (Protection) และสนับสนุนการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย (Survival) โดยบริษัทฯ ได้ประกาศนโยบาย และหลักจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าและผู้รับเหมา (supplier code of conduct) ที่ป้องกันไม่ให้ใช้แรงงานเด็กอย่างเคร่งครัด รวมถึงกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในสังคมที่เด็กอาศัยอยู่ เช่น การพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และลดการฝังกลบ (zero waste to landfill) เป็นต้น

เมืองแห่งโอกาส (Opportunity)

บริษัทฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้เด็กในชุมชนโดยรอบมีโอกาสในการเข้าถึงสาธารณูปโภค และบริการต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์การค้า 

เมืองแห่งการศึกษา (Edu-town)

บริษัทฯ ได้ผสานความร่วมมือของหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ในการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ และการศึกษาขึ้นอย่างหลากหลายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ทั้งสองแห่ง เช่น ศูนย์การเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ห้องการเรียนรู้อัจฉริยะ (smart classroom) พื้นที่สวนสาธารณะเพื่อการนันทนาการ 

ผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน

ในปี 2565 บริษัทฯ ไม่ได้รับการร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงไม่มีการรายงานด้านการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนจากทั้งคู่ค้า ผู้รับเหมา และจากลูกค้า โดยคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ได้มีการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และจำนวนข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่รวบรวมจากช่องทางต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการบริษัทรับทราบตามลำดับ 

แม้ว่าจะยังไม่มีการร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่มีนัยสำคัญจากผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ แต่บริษัทฯ ยังตระหนักถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยคู่ธุรกิจหรือคู่ค้าและผู้รับเหมาของบริษัทฯ ในกิจกรรมต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงได้ขยายความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนไปยังคู่ธุรกิจ คู่ค้าและผู้รับเหมา โดยส่งเสริมให้คู่ธุรกิจ คู่ค้าและผู้รับเหมาในห่วงโซ่คุณค่าเคารพในสิทธิมนุษยชนและดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้าของบริษัท (Supplier Code of Conduct) นอกจากนี้ ได้ผนวกแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าและผู้รับเหมาใหม่ และในสัญญาว่าจ้าง และมีการตรวจประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าและผู้รับเหมาในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนด “นโยบายการแจ้งเบาะแส” (Whistleblowing Policy)” และจัดให้มีช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ บริษัทฯ มีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบและจัดการข้อร้องเรียนอย่างรอบคอบ ยุติธรรม และโปร่งใส พนักงานผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของบริษัทฯ จะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วยหากการกระทำนั้นผิดกฎหมายด้วย ส่วนการฟื้นฟูเยียวยากรณีเกิดเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชน บริษัทฯ กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการบรรเทาแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน และมีมาตรการชดใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นธรรม 

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes