ความเสี่ยง

นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ มีพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะของชุมชนต่างๆ จึงมีคนสัญจรไปมาภายในพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากมาย จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและภาวะฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆ ขึ้นได้ เช่น อุบัติเหตุทางจราจร อัคคีภัย สารเคมีรั่วไหลภายในโรงงาน เป็นต้น สร้างผลกระทบแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น พนักงานและผู้รับเหมาของบริษัทฯ ลูกค้า และชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทฯ ได้ การเกิดอุบัติเหตุ หรือภาวะฉุกเฉินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสามารถนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อบริษัทฯ

โอกาส

การบริหารจัดการด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็นเมืองแห่งความปลอดภัย Safety City, Smart City ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จากการมีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และพนักงานที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนระบบการตรวจสอบดูแลและมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ  นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของชุมชนโดยรอบที่มีต่อความสามารถในการแก้ไขและป้องกันภัยต่างๆ ของบริษัทฯ รวมถึงการส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนโดยรอบเพื่อสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ มุ่งมั่นสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยทั้งในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเตรียมความพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์และกำลังคนที่สามารถตอบโต้กับสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านความปลอดภัยแก่พนักงาน ลูกค้า ผู้รับเหมา รวมถึงชุมชนโดยรอบ ให้มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยร่วมกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม

บริษัทฯ มีนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และแนวปฏิบัติมาตรฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยกำหนดให้พนักงาน ลูกค้า และผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รวมถึงมาตรฐานสากลที่ได้นำมาใช้ร่วมในการดูแลพื้นที่ เช่น ISO 14001:2015 เป็นต้น โดยมีการตรวจประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงานและวิเคราะห์ประสิทธิผลของมาตรการควบคุมและการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นประจำ

บริษัทฯ ยังได้นำหลักการ Zero Accident มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับพนักงานและผู้รับเหมาของบริษัทฯ และนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่โดยรอบ ภายใต้โครงการ “Safety City, Smart City” ที่เริ่มต้นในปี 2562 โดยใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ของบริษัทฯ ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของพนักงาน และการปลูกฝังวัฒนธรรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับผ่านนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานให้เป็นศูนย์ (Zero LTIFR)

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และการส่งเสริมด้านสุขภาพให้แก่พนักงานของบริษัทฯ ดังนี้

1. การประเมินความเสี่ยงในการทำงาน
  • บริษัทฯ กำหนดให้ทุกหน่วยงานบ่งชี้ประเด็นความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน พนักงานระดับหัวหน้างานและพนักงานที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมร่วมกันบ่งชี้และประเมินความเสี่ยงของประเด็นด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมความเสี่ยงของกิจกรรมหรือกระบวนการนั้นๆ โดยมีการทบทวนความเสี่ยงปีละ ครั้ง 
2. การรายงานและการสอบสวนเหตุการณ์ผิดปกติหรืออุบัติเหตุ
  • กรณีที่มีอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานผู้ประสบเหตุหรือหัวหน้างานที่ได้รับแจ้ง รายงานอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ผิดปกติต่อหัวหน้างานและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และบริษัทฯ จะมีกระบวนการสอบสวนเพื่อร่วมกันหาสาเหตุและกำหนดมาตรการป้องกันเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดซ้ำ 
3. การส่งเสริมสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
  • บริษัทฯ ดำเนินการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานตามปัจจัยเสี่ยงแต่ละพื้นที่ เช่น คุณภาพอากาศ แสงสว่าง เสียง และแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานและความจำเป็นในแต่ละงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีความสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 
     
  • บริษัทฯ ได้สำรวจพื้นที่ในอาคารสำนักงานในจุดเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการทำงานและอัคคีภัย และดำเนินการปรับปรุงโดยการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเป็นประจำ เช่น เครื่องดับเพลิงชนิดปราศจาก CFC ไฟฉายสำรองติดอยู่บริเวณทางออกฉุกเฉิน ป้ายเตือน (Safety Sign) เป็นต้น 

  • บริษัทฯ จัดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานตั้งแต่แรกเข้าและมีสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปี สนับสนุนค่ารักษาพยาบาล และการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพให้กับพนักงานจากพยาบาลประจำบริษัทให้แก่พนักงานทุกคน (ร้อยละ 100)  
  • บริษัทฯ ได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี 4 สายพันธุ์ แก่ผู้บริหารและพนักงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดการอัตราการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนอีกด้วย

  • บริษัทฯ สนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพของพนักงานทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ โดยจัดตั้งชมรมเพื่อสุขภาพ และชมรมกีฬาตามความสนใจของพนักงานประกอบด้วย ชมรมฝึกสมาธิ และชมรมกีฬาประเภทต่าง ๆ เช่น โยคะ วิ่ง แบดมินตัน ฟุตบอล เต้นแอโรบิค เป็นต้น
  • บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรม AMATA Health Day โดยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH)” เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรค ให้บรรยายความรู้ด้านสุขภาพ ในหัวข้อ ดูแลตัวเองง่ายๆ ห่างไกลไขมันและเบาหวาน” โดยแพทย์อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร รวมถึงการตรวจวัดองค์ประกอบร่างกาย Bioelectrical Impedance Analysis (BIA) เพื่อรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพโดยนักกำหนดอาหาร
4. การอบรมพนักงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • บริษัทฯ ได้จัดให้มีการอบรมดับเพลิงเบื้องต้น และการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ เป็นประจำทุกปี เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความพร้อมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการระงับอัคคีภัยเบื้องต้น การปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ และมีการบันทึกข้อมูลขณะฝึกซ้อม การประเมินผลด้วยระยะเวลาในการอพยพ และประสิทธิภาพการสื่อสารขณะเกิดเหตุ ตลอดจนการสรุปผลการฝึกซ้อมให้พนักงานที่เข้าร่วมได้รับทราบ 

ผลการดำเนินงานในปี 2566 มีพนักงานของบริษัทฯ ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานถึงขั้นหยุดงาน 1 ราย และอัตราการเกิดอุบัติเหตุขั้นหยุดงาน (LTIFR) ของพนักงานเท่ากับ 1.53 กรณี ต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน

ความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมา

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้รับเหมาทั้งของบริษัทฯ และของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดำเนินงานของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงมีการแจ้งนโยบายด้านนโยบายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของบริษัทฯ รวมถึงแนวปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าทำงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของอมตะทั้งสองแห่งในรูปแบบการประชุมชี้แจงให้ผู้รับเหมาทั้งของบริษัทฯ และของลูกค้ารับทราบ พร้อมทั้งกำชับให้ผู้รับเหมาปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในการควบคุมการทำงานของผู้รับเหมาของบริษัทฯ จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานที่เป็นเจ้าของโครงการ และหากมีการเกิดการบาดเจ็บรุนแรงในระดับถึงขั้นหยุดงาน ผู้รับเหมาจะต้องแจ้งให้ทางบริษัทฯ รับทราบด้วย

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้มีการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมา ครอบคลุมการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐานและการดูแลพนักงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  บริษัทฯ ได้จัดการอบรมด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้รับเหมาของบริษัทฯ ได้แก่ การฝึกซ้อมเก็บกู้การหกรั่วไหลของขยะมูลฝอยให้แก่พนักงานเก็บขนและคัดแยกขยะประจำโรงคัดแยกขยะของบริษัทผู้รับเหมา การคัดแยกประเภทขยะ การขับรถ Forklift อย่างปลอดภัยและถูกวิธีให้กับพนักงานของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ การอบรมและฝึกซ้อมการดับเพลิงขั้นต้นและอพยพหนีไฟ

จากการดำเนินงานพบว่าในปี 2566 ไม่มีพนักงานของผู้รับเหมาเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานถึงขั้นหยุดงานหรือเสียชีวิต และอัตราการเกิดอุบัติเหตุขั้นหยุดงาน (LTIFR) ของพนักงานของผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ เท่ากับ 0 กรณีต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน

การบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของลูกค้าผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทั้งด้านการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ส่วนกลาง และการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากบริษัทฯ ได้จัดตั้งสถานีดับเพลิงตามข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ สำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2557 แล้ว บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response Center) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 2 แห่ง  และ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 1 แห่ง ดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยที่ผ่านการอบรมตามกฎหมาย โดยลูกค้าสามารถติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์สายตรงของศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ตลอด 24 ชั่วโมง

บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น เพลิงไหม้ และสารเคมีรั่วไหล ภายในโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการของบริษัทฯ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสอนการดับเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมขึ้น โดยให้บริการฝึกอบรมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ตลอดจนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ ให้แก่โรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย มีอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการสามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้องในกรณีที่เกิดอัคคีภัยขึ้นในสถานประกอบการได้

ในปี 2566 บริษัทฯ เข้าระงับเหตุอัคคีภัยให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งไปทั้งสิ้น 20 ครั้ง และบริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ดังนี้

  • บริษัทฯ จัดการอบรมหลักสูตรดับเพลิงขั้นต้น ฝึกซ้อมดับเพลิง ฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ และหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย ให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง ทั้งในรูปแบบการอบรมปกติ และรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งหมด 737 รุ่น มีพนักงานโรงงานที่ผ่านการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 110,764 คน
  • บริษัทฯ ร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จัดซ้อมแผนควบคุมภาวะฉุกเฉิน (สารเคมีรั่วไหล แก๊สรั่วไหล และเพลิงไหม้) รูปแบบการซ้อมในพื้นที่จริงและแบบออนไลน์ ประจำปี 2566 เพื่อฝึกซ้อมความพร้อมของหน่วยงานในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สร้างความชำนาญในการปฏิบัติงาน การสื่อสาร การใช้อุปกรณ์ และอื่นๆ ในการควบคุมระงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีให้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชนในชุมชนใกล้เคียง
  • บริษัทฯ ร่วมกับชมรมผู้บริหารและจัดการอมตะซิตี้ระยอง (Amata City Management Group : ACMG) จัดอบรมให้ความรู้เรื่อง การบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแบบมืออาชีพ ให้แก่สมาชิกชมรม ซึ่งเป็นโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และส่งเสริมด้านการบริหารงานความปลอดภัยภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • บริษัทฯ ร่วมกับกองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดสัมมนาเรื่อง ความปลอดภัยของการใช้ถังดับเพลิงมือถือ ให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ในการใช้งานถังดับเพลิงมือถือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งาน

ความปลอดภัยทางท้องถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง มีโรงงานและผู้เช่ากว่า 1,321 ราย มีพนักงานที่ทำงานภายในพื้นที่ประมาณ 295,000คน  และมีผู้อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมกว่า 955,857คน จากการสำรวจผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจพบว่า ปัญหาการจราจรและความปลอดภัยทางถนนเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนได้เสียหลักทุกกลุ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะมีถนนสาธารณะหลายสายที่ตัดผ่านพื้นที่หรือเชื่อมต่อกับถนนของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทำให้ทั้งลูกค้าที่เป็นโรงงานผู้ประกอบการ พนักงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม และคนในชุมชนที่สัญจรผ่านได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจราจรที่หนาแน่นและอุบัติเหตุทางถนน

ผลการสำรวจข้อมูลการใช้รถใช้ถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะปี 2566 พบว่ามียานพาหนะที่ใช้เส้นทางสัญจรภายในพื้นที่กว่า 119,400 คันต่อวัน จำแนกเป็นรถโดยสารรับ-ส่งพนักงาน จำนวน 1,900 คัน รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลจำนวน 49,000 คัน และรถจักรยานยนต์จำนวน 68,500 คัน ส่งผลให้เกิดสภาพการจราจรหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วนในนิคมอุตสาหกรรมและถนนสาธารณะของชุมชนในพื้นที่ต่อเนื่อง ทั้งยังมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจนถึงขั้นเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยช่วงปี 2558 - 2560 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปี 2560 มีจำนวนมากที่สุดถึง 15 ราย

บริษัทฯ จึงตั้งเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดอุบัติเหตุทุกประเภทที่เกิดขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 3 เป้าประสงค์ที่ 3.6 ที่มีเป้าหมายในการลดจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่ง ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้าง Safety City, Smart City และ  โครงการองค์กรปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องจากปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการจราจรและความปลอดภัยของคนในชุมชนที่ใช้ถนนของนิคมอุตสาหกรรมอมตะและถนนสาธารณะในพื้นที่ต่อเนื่องร่วมกัน

Safety City, Smart City

บริษัทฯ ใช้กลยุทธ์เน้นสร้างความร่วมมือทั้งในและนอกองค์กร และแนวทางการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน มุ่งเน้นการบริหารจัดการจราจรอย่างเข้มงวดและได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจรของทั้งสองนิคมอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และตัวแทนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น และร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการการจราจรเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะและพื้นที่ต่อเนื่อง ด้วยหลัก ‘6E Concept’ ภายใต้โครงการ Safety City, Smart City

Engineering

บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างและพื้นผิวถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที รวมถึงจัดให้มีช่องทาง Line Official: @AmataCityChonburi และ @AmataCityRayong ในการเช็คอิน และแจ้งข้อมูลจุดที่สภาพพื้นผิวการจราจรเกิดความเสียหาย และเข้าซ่อมแซมอย่างทันที เพื่อลดจุดเสี่ยงและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

บริษัทฯ ยังได้มีการจัดเก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุย้อนหลัง 5 ปี เพื่อประเมินจุดเสี่ยงทางด้านกายภาพ และนำมาออกแบบวิธีการปรับปรุงโครงสร้างถนน รูปแบบการจราจร และรูปแบบเส้นทาง โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้นำข้อมูลจากการวิเคราะห์มาออกแบบวิธีการแก้ไข โดยการปรับรูปแบบเส้นทางจราจรในพื้นที่เสี่ยงบางจุด ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีการจราจรหนาแน่น ตั้งแต่เวลา 06.30น.- 08.00น. เพื่อช่วยระบายปริมาณรถ และลดปริมาณรถติดสะสม เช่น บริเวณวงเวียนคูโบต้า ปรับรูปแบบเส้นทางบังคับเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ห้ามเลี้ยวขวาเข้าวงเวียน เพื่อป้องกันไม่ให้กีดขวางการจราจรของรถทางตรง ส่วนรถที่จะเลี้ยวเข้าซอยให้ใช้ถนนเส้นเลียบคลองแทนเพื่อวนเข้าเส้นหลัก เป็นต้น

ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยในพื้นที่นิคมฯ โดยการปรับปรุงโครงสร้างถนน รูปแบบการจราจร และติดตั้งสัญลักษณ์ความปลอดภัยเพิ่มเติม ดังนี้

  • ปรับปรุงถนนที่เสี่ยงอันตราย จำนวน 4 จุด ด้วยการขยายช่องจราจรช่วงเลี้ยวโค้งให้กว้างขึ้น
  • ทดลองติดตั้งวงเวียนบริเวณทางแยกของถนน G1-M1 และบริเวณทางแยกของถนน H1-H2-H3
  • ติดตั้ง Barrier บริเวณพื้นที่เสี่ยงอันตราย ทางสามแยกหน้าบริษัท โยโกฮาม่า ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และจุดกลับรถหน้าบริษัท คาร์ดิแนล เฮลท์ 222 (ประเทศไทย) จำกัด
  • การปรับปรุงเส้นจราจรให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บริเวณทางแยกจุดเสี่ยง
  • ติดตั้งเนินชะลอความเร็วเพิ่มเติม 5 จุด

นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นผิวถนน ทาสีเนินชะลอความเร็ว ทาสีแบ่งช่องจราจร ติดตั้งป้ายเตือนและสัญลักษณ์ความปลอดภัย ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางและช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ

Education

ความรู้ความเข้าใจในความปลอดภัยทางท้องถนนนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้รถใช้ถนน บริษัทฯ ได้มีการดำเนินงานทั้งในด้านการรณรงค์สร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การขับขี่ตามกฎหมายจราจร และมีน้ำใจบนท้องถนน โดยดำเนินการเชิงรุก ในการสร้างความตระหนักในด้านความปลอดภัยทางท้องถนนทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและในชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง

บริษัท ฯ ได้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์การสวมหมวกนิรภัยให้พนักงานและบุคคลภายนอกที่สัญจรภายในนิคมฯ จำนวน 25 ป้าย นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายใต้การรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ จอภาพในอาคาร ไลน์ และ Facebook  มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและจราจรของบริษัทฯ ตักเตือนผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และให้ความรู้แก่ประชาชนที่ใช้ถนนของนิคมฯ ในการสัญจร รวมถึงพนักงานและผู้รับเหมาของบริษัท ฯ ที่นำรถจักรยานยนต์มาทำงานหรือมีหน้าที่ออกตรวจพื้นที่ด้วย

Encouragement

บริษัทฯ ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง และภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนงานท้องถิ่น โรงพยาบาล อาสากู้ภัย ชมรม ที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมและเป็นพันธมิตรในการบริหารจัดการความปลอดภัยทางท้องถนนและพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้จัดประชุมเครือข่ายงานป้องกันและตอบโต้เหตุฉุกเฉิน งานด้านความปลอดภัยทางท้องถนนและพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาร่วมกัน

การดำเนินโครงการส่งเสริมความปลอดภัยร่วมกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 15 ราย เพื่อเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินกิจกรรมย่อยต่างๆ เริ่มต้นจากการจัดประกวดคำขวัญเพื่อลุ้นรับเงินรางวัล และนำคำขวัญที่ผ่านการคัดเลือกมาจัดทำป้ายส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน สำหรับติดตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และจะดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามแผนงานต่อไป

นอกจากนี้ บริษัท ฯ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านความปลอดภัยในการสวมหมวกจราจร เพื่อการดำเนินกิจกรรม รณรงค์การใช้หมวกนิรภัย พร้อมปิดประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องและทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

Enforcement

บริษัทฯ ได้มีการใช้แนวทางบริหารจัดการเชิงรุกด้วยการสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อบังคับใช้กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการร่วมมือกับผู้นำชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น ในการใช้มาตรการทางสังคมเพื่อควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนน และความร่วมมือกับเครื่องข่ายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อสร้างมาตรฐานขององค์กรให้พนักงานในโรงงานปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน

              บริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร (คจร.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ตำรวจจราจร ผู้นำท้องถิ่น และผู้แทนจากโรงงาน เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการการใช้รถใช้ถนนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ กำหนดแผนการดำเนินงาน และรับฟังความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2566 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาจราจร (คจร.) ไม่ได้มีการจัดประชุมของทั้ง 2 แห่ง แต่มีการกำหนดแผนงาน ดำเนินการตามแผน และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้สิทธิเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตั้งด่านตรวจในเขตพื้นที่นิคมฯ เพื่อกวดขันวินัยจราจรและการปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมทั้งจัดทำหนังสือขอความร่วมมือปฏิบัติตามวินัยจราจร ประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และประกาศเขตควบคุมวินัยจรารกวดขันวินัยจราจร โดยการ จับ ปรับ ยึด ยก และ ออกจดหมายขอความร่วมมือ

Emergency Management System (EMS)

การเข้าระงับเหตุ และการตอบสนองต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยควบคุมและลดความเสี่ยหายที่เกิดขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน บริษัทฯ จึงจัดให้มีศูนย์ควบคุมกลาง (Command Center) และการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 81 จุด 132 ตัว ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และ 50 จุด 121 ตัว ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

Evaluation

การบริหารจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์สถิติการเกิดอุบัติเหตุตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วยให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ จึงจัดให้มีการอบรมการจัดการข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อจัดเก็บข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และออกแบบวิธีการแก้ไขปรับปรุงอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) มาใช้ในการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคต เพื่อประสิทธิภาพการดำเนินการ และเพื่อเป้าหมายการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ปลอดภัย มีอุบัติเหตุเป็นศูนย์

จากผลการดำเนินงานตามนวัตกรรม 6E Concept ในโครงการ Safety City, Smart City พบว่าในปี 2566 มีจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 293 ครั้ง มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 342 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย แม้ว่าจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 แต่สถิติของผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้จำนวนอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ความเร็วและพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ขับขี่ด้วยความประมาท และเมาแล้วขับ ซึ่งบริษัทฯ จะรณรงค์การสร้างวินัยในการขับขี่และส่งเสริมพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยของผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านทั้งถนนของนิคมฯ เองและถนนสาธารณะในพื้นที่ต่อเนื่องต่อไป

และจากการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการองค์กรปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ จากศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัดชลบุรี

นอกจากนั้นบริษัทฯ ก็ยังได้รับรางวัล องค์กรต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ประจำปี 2566 จากแผนงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ความปลอดภัยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

จากการเจริญเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทำให้ชุมชนโดยรอบขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในนิคมฯ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอัคคีภัย บริษัทฯ จึงได้เตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อช่วยเหลือชุมชน ตลอดจนได้ให้ความรู้ด้านการดับเพลิงเบื้องต้นให้แก่โรงเรียนและชุมชน  ในปี 2566 ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response Center) ของบริษัทฯ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยที่ผ่านการอบรมตามกฎหมาย ได้เข้าช่วยระงับเหตุอัคคีภัยให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมไปทั้งสิ้น 6 ครั้ง แบ่งเป็นการระงับเหตุอัคคีภัยในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 1 ครั้ง และรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 5 ครั้ง โดยบริษัทฯ เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการระงับเหตุอัคคีภัยทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 31,000 บาท

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes