การพัฒนาชุมชนและสังคม

ความเสี่ยง

การเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมย่อมนำมาซึ่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น หากชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้รับการดูแลและป้องกันผลกระทบเชิงลบที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อาจเกิดความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนและการต่อต้านจากชุมชนในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต ตลอดจนกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุนได้

โอกาส

การพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ บริษัทฯ มุ่งหวังให้ชุมชนมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยอมรับจากชุมชน (Social License to Operate) รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการศึกษา จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพแรงงานท้องถิ่นที่เพื่อสนองตอบความต้องการใช้แรงงานมีฝีมือของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง และช่วยสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าของบริษัทฯ ในระยะยาว

แนวทางการบริหารจัดการ

จากปรัชญา “ALL WIN” ที่บริษัทฯ ได้ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด และมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงได้กำหนดกลยุทธ์หลักด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนและสังคมในด้านต่าง ๆ และมุ่งเน้นที่ความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ ชุมชน ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้บริษัทฯ ได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนด้วย

บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียหลัก เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และเปิดโอกาสให้ประชากรในชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นในสังคมสามารถเข้าถึงบริการที่บริษัทฯดำเนินการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียอื่นของบริษัท ฯ เช่น ลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานหลายภาคส่วนในการร่วมกันพัฒนาชุมชนและสังคมส่วนรวม

              บริษัทฯ ได้จัดตั้ง ฝ่ายงานชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมความรับผิดชอบเพื่อสังคม เพื่อขับเคลื่อนโครงการภายใต้เป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ดูแลและติดตามโครงการพัฒนาชุมชนให้มีประสิทธิภาพ บริษัทฯ ได้ทำการสำรวจปัญหา ความต้องการ และความคาดหวังของชุมชนท้องถิ่นผ่านกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement process) และนำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการผลกระทบทางสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ดังนี้

1.ระบุกลุ่มเป้าหมายและสำรวจพื้นที่

ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสามแห่งในประเทศไทยของบริษัทฯ นั้น มีพื้นที่กว่า 73 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือจังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง มีจำนวนพนักงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมและประชากรอาศัยอยู่ในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งหมดกว่า 1.25 ล้านคน การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ เช่น ความแออัดของประชากรและการสัญจร การขยายตัวของชุมชนเมืองที่เกิดจากการเข้ามาของแรงงานต่างถิ่น ความปลอดภัยทางถนน เป็นต้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ คือชุมชนท้องถิ่นที่อยู่โดยรอบ บริษัทฯจึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีพื้นที่ที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันกว่า 44.5 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 31 ตำบล ในจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมในระยะ 5 กิโลเมตรจากขอบพื้นที่โครงการ จำนวน 236 หมู่บ้าน บนพื้นที่กว่า 260 ตารางกิโลเมตร มีประชากรตามทะเบียนบ้านในชุมชนโดยรอบ ประมาณ 227,826 คน (ที่มา : ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการวางแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี และ เวปไซด์ เทศบาล/อบต.) มีประชากรทั้งหมดรวมประชากรแฝงซึ่งย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาเพื่อทำงานในพื้นที่นี้จำนวน 734,957 คน โดยจำนวนพนักงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนกว่า 210,000 คน 

นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีพื้นที่ที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันกว่า 28.6 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ 6 ตำบล ในจังหวัดชลบุรีและระยอง มีชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมในระยะ 5 กิโลเมตรจากขอบพื้นที่โครงการ มีจำนวน 20 หมู่บ้าน มีประชากรตามทะเบียนบ้านในชุมชนโดยรอบ ประมาณ 100,805 คน แต่มีประชากรทั้งหมดรวมประชากรแฝงซึ่งย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาเพื่อทำงานในพื้นที่นี้จำนวน 220,900 คน (ที่มา: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบบสถิติทางการทะเบียน ประจำปี 2566) โดยจำนวนพนักงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนกว่า 85,000 คน

2.สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

บริษัทฯ มุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายในและโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้สื่อสารถึงความกังวลใจ ปัญหาผลกระทบที่ได้รับ และความต้องการของชุมชนในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของอมตะให้เป็นเมืองสมบูรณ์แบบ ที่ชุมชนท้องถิ่นโดยรอบสามารถอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างมีความสุขและสร้างคุณค่าร่วมกัน

บริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนชุดต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังปัญหา ความคาดหวัง และข้อเสนอแนะจากชุมชนเพื่อการปรับปรุงที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ข้อเท็จจริง และแก้ไขข้อร้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสำคัญของบริษัทฯ ได้แก่ ชุมชนและหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทฯ เกิดความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ  และความผูกพันให้เกิดขึ้นระหว่างกัน

คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการไตรภาคี หรือคณะกรรมการที่มีโครงสร้างของกรรมการมาจากตัวแทนของ ชุมชน หน่วยงานราชการ และบริษัทฯ, คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม Eco-Green Network เป็นต้น โดยแต่ละคณะกรรมการจะมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทฯ และการเสนอแนะประเด็นที่เป็นกังวลของชุมชน หรือข้อร้องเรียนที่มีต่อการประกอบกิจการของบริษัทฯ

CommitteeObjectives2023 Performance

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ประกอบด้วยกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กรรมการผู้แทนภาคราชการ และกรรมการผู้แทนภาคโครงการ จำนวน 97 คน

 

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง ประกอบด้วยกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กรรมการผู้แทนภาคราชการ และกรรมการผู้แทนภาคโครงการ จำนวน 29 คน

  • เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ จากการเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
  • เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ โดยเฉพาะชุมชนและหน่วยงานราชการท้องถิ่น ถึงปัญหาและ ผลกระทบจากกิจกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไข รวมถึงการพัฒนาชุมชน
  • ในปี 2566 คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมของทั้งสองนิคมอุตสาหกรรมได้มีการประชุม 2 ครั้ง 
  • คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่งมีความพอใจในผลดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ และมีความเชื่อมั่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด  
  • คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีความสนใจในประเด็นเรื่อง การจราจร การจัดการน้ำเสีย และการกระจายรายได้สู่ชุมชน 

Eco-Green Network:
คณะทำงานโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานด้าน CSR+ECO+Environment & Safety +CG หรือ Eco-Green Network ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง

คณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทฯ ผู้ประกอบการในนิคม ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานราชการท้องถิ่น โรงพยาบาล และโรงเรียน

  • เพื่อยกระดับและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของอมตะสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการสร้างสมดุลใน 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนิคม ชุมชนและหน่วยงานราชการท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมอมตะมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  • เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของนิคมอุตสาหกรรมอมตะต่อสาธารณชน
  • ในปี 2566 คณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จัดการประชุม 1 ครั้ง และคณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จัดการประชุม 1 ครั้ง 
  • คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาแผนงานและโครงการที่จะดำเนินงานเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประจำปี 2566 
  • คณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่อง การจัดการน้ำเสียชุมชน การจัดการขยะชุมชน การแก้ปัญหาจราจร และการใช้พลังงานทางเลือก เช่น solar Cell
  • คณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่อง การจัดการน้ำเสีย การแก้ปัญหาจราจร และสนับสนุนอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

3. การประเมินผลกระทบที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น

การประเมินผลกระทบทางสังคม เป็นหนึ่งในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) โดยการประเมินผลกระทบทางสังคม บริษัทฯ ใช้วิธีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Stakeholder Analysis) เพื่อวิเคราะห์กิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับการสำรวจทัศนคติชุมชน ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการเป็นประจำทุกปีตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในช่วงระหว่างการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ในปี 2566 บริษัท อมตะซิตี้ ระยอง จำกัด ร่วมกับบริษัท เอสเอส คอนซัลแทนท์ คอร์ปอเรชั่น และหน่วยงานราชการท้องถิ่นได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน จำนวน 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและมิถุนายน 2566  ณ หอเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ศาลาสร้างสุข (บ้านหนองระกำ) ต.พนานิคม อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง และหอประชุม อบต.บ่อวิน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยเชิญประชาชนในชุมชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมารับฟังข้อมูลของโครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง (ส่วนขยาย) ระยะที่ 6 แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานและมาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้ชุมชนเสนอแนะความคิดเห็นได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการต่อไป การประชุมทั้งหมดนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาชน และสื่อมวลชน สนใจเข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน

จากผลการสำรวจทัศนคติของชุมชนและความคาดหวังจากคณะกรรมการชุมชนชุดต่าง ๆ ในปี 2566 สามารถสรุปผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นได้เป็น 2 ประเด็นที่ชุมชนให้ความสำคัญในการจัดการอย่างมาก ได้แก่ 1) ปัญหาการจราจร 2) ปัญหาด้านเศรษฐกิจชุมชน  นอกจากนี้ ชุมชนมีความคาดหวังในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการขยะและน้ำเสีย และการสนับสนุนด้านการศึกษาด้วย

4. ออกแบบโครงการและกิจกรรมเพื่อตอบสนอง

บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาชุมชนและรูปแบบกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม โดยร่วมมือกันระหว่างบริษัทฯ ลูกค้าผู้ประกอบการในนิคม ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน ภายใต้กรอบการพัฒนาชุมชน 5 ด้าน ที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: UN SDGs) อีกทางหนึ่งด้วย โดยกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาชุมชนในปี 2566 ที่คะแนนความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่ออมตะ ไม่น้อยกว่า 85%

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการจำนวนทั้งสิ้น 21 โครงการ  โดยใช้งบประมาณในการลงทุนทางสังคม (ไม่รวมเงินบริจาค) รวม 5.66 ล้านบาท  มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 42,624 คน  และผู้ที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมจากกิจกรรมและโครงการที่บริษัทฯ ดำเนินการจำนวนกว่า 188,460 คน

5. การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายงานชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมความรับผิดชอบเพื่อสังคม (CSR) ของอมตะ ได้ทำการจัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง เป็นประจำทุกปี ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เพื่อศึกษาข้อมูลความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อการดำเนินกิจกรรมด้าน CSR รวมถึงการดำเนินงานของอมตะ ในเชิงลึกรวมถึงศึกษาความต้องการและความคาดหวังของชุมชนที่มีต่ออมตะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผลการสำรวจในปี 2566 พบว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยที่คะแนน 91.5 % และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยที่คะแนน 91.3 %

นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของชุมชนประจำปีที่มีต่อนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จำนวน 46 แห่ง โดยร่วมกับบริษัทฯ ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ในปี 2566 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย ที่ 94% และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยที่ 87.4 %

บริษัทฯ ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง มาวิเคราะห์ และวางแผนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุน และพัฒนาชุมชนในปีถัดไป นอกจากนี้ ฝ่ายงานชุมชนสัมพันธ์และความรับผิดชอบเพื่อสังคม ได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์เชิงลึก ถึงประเด็นปัญหา และความคาดหวังของชุมชนต่อบริษัทฯ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมต่อไปในอนาคต

ซึ่งจากผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชนในปี 2566 ของชุมชนพื้นที่โดยรอบอมตะซิตี้ ชลบุรี พบว่า ชุมชนมีความต้องการให้อมตะให้ความสำคัญในการดูแลและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในพื้นที่นิคมรวมถึงการสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นประเด็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องการให้อมตะส่งเสริมอาชีพและสินค้าในชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนอันก่อให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป และในส่วนของชุมชนพื้นที่โดยรอบอมตะซิตี้ ระยอง พบว่า ชุมชนมีความต้องการให้อมตะส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจเช่นการจ้างงานคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมอาชีพและสินค้าในชุมชน การสร้างรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนโดยรอบนิคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการให้อมตะเพิ่มการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนรอบนิคมมากขึ้น

บริษัทฯ ได้นำข้อเสนอแนะจากแบบสำรวจมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับแบบสำรวจที่จัดทำขึ้น รวมถึงวางแผนงานในการจัดทำโครงการ ต่าง ๆ อาทิโครงการ Farm to Factory นำสินค้าชุมชนเข้าสู่ครัวโรงงาน ประสานขอพื้นที่ภายในสถานประกอบการเปิดเป็นตลาดนัดขนาดเล็กให้ชุมชนได้นำสินค้าเข้าไปจำหน่าย เพื่อส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน ของอมตะซิตี้ ชลบุรีและอมตะซิตี้ ระยอง รวมถึงการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์ให้สินค้าชุมชนเพิ่มขึ้น จากเวปไซด์อมตะชวนช้อป และจัดการไลฟ์สดขายสินค้าชุมชน เป็นต้น

ในส่วนการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษาฝ่าย บริษัทฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ กิจกรรมครูอาสาอมตะ ด้วยความร่วมมือกับสถานประกอบการที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 2 แห่ง และพนักงานในกลุ่มอมตะ เข้าร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียนที่อยู่โดยรอบนิคมฯ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ครอบครัวขาดแคลนเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชน

ด้านการส่งเสริมสุขภาพ บริษัทฯ ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ อาทิ การจัดประชุมให้ความรู้ชุมชน การเชิญร่วมออกหน่วยให้บริการประชาชนในกิจกรรมคาราวานอมตะสร้างรอยยิ้ม หรือการมอบหน้ากากอนามัยให้ชุมชน เป็นต้น

ร่วมสร้างอนาคต
ไปกับอมตะ

ร่วมสร้างอนาคต
ไปกับอมตะ

ติดต่อเราเพิ่มเติม

ประเทศไทย
+66 38 939 007
เวียดนาม

+84 251 3991 007 (ใต้)
+84 203 3567 007 (เหนือ)

พม่า

+95 1 230 5627

ลาว
+85 620 5758 0007