ปัจจุบันผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับแนวโน้มของโลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) มากขึ้น ตลอดจนกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนที่มีความสนใจต่อผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองมากขึ้น ดังนั้น บริษัทฯ อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขัน หากไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มเติมจากความต้องการขั้นพื้นฐานได้ เช่น ความต้องการของลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้การเข้ามาของคู่แข่งทางธุรกิจบริการและสาธารณูปโภครายใหม่ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วกว่า ทำให้การแข่งขันในตลาดรุนแรงยิ่งขึ้น บริษัทฯ อาจสูญเสียรายได้จากการขายสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทฯ มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย การมีส่วนร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดส่งผลให้บริษัทฯ สามารถติดตามและรับรู้การเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าได้ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และครบวงจร พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อรองรับลูกค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve industries) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว นอกจากนี้ การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้ชุมชนมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และสามารถอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้ในระยะยาว
บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะ ภายใต้แนวคิดเมืองสมบูรณ์แบบที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มแบบ ALL WIN ด้วยหลักการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นศูนย์กลาง (Stakeholder Centric) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจึงมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ สามารถแก้ปัญหาและสนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจให้กับลูกค้าได้ในระยะยาว และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทางตรงที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีในการอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเกิดคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต สร้างสรรค์ความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท ทั้งยังช่วยพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และลดผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ จึงกำหนด “นโยบายการจัดการนวัตกรรม” เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมภายในองค์กรด้วยการสนับสนุนให้พนักงานแสดงความคิดสร้างสรรค์ คิดค้น ประดิษฐ์ ทดลองและทำสิ่งใหม่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความสามารถและร่วมพัฒนานวัตกรรมกับคู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอันเกิดจากศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อธุรกิจและสังคม
บริษัทฯ ได้กำหนดกรอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ “Products & Services Development Framework” ในการออกแบบสินค้าและบริการที่สามารถส่งมอบคุณค่าสูงสุดให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงกับลูกค้า (Stakeholder Engagement) ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อสำรวจ ประเมิน และวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าที่มีศักยภาพในอนาคตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประกอบกับการวิเคราะห์แนวโน้ม และ Mega Trends ที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นำข้อมูลที่ได้มาประเมินผลกระทบ ความเร่งด่วน และระดับความสำคัญ เพื่อระบุวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และเตรียมพร้อมทางด้านการตลาด การร่วมมือกับหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Innovation) เพื่อออกแบบสินค้าและบริการที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีการติดตามรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ พัฒนา Sprint Team จากกลุ่มพนักงานศักยภาพสูง (Talent) และพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงลึกโดยการสัมภาษณ์ลูกค้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกไปดำเนินการวิเคราะห์ประกอบการปรับปรุงแผนกลยุทธ์องค์กร และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ พบว่า วิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวทั่วโลกในการบริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วนเพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น กลายเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกประกาศใช้นโยบาย มาตรการ ระเบียบปฏิบัติ รวมถึงกฎหมายใหม่ ๆ และความต้องการให้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อป้องกันและควบคุมผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก ที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมายของประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ และปฏิบัติตามนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทแม่ในต่างประเทศอย่างเคร่งครัด ตลอดจนต้องผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้ประกอบการโรงงานจึงมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการที่เป็นไปตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และมีข้อมูลที่ชัดเจนสามารถอ้างอิงได้ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน
บริษัทฯ มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อสนองตอบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่รองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า โดยพัฒนาพื้นที่การลงทุนโซนใหม่ที่มีมาตรฐานระดับสากล พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแรงงานที่มีคุณภาพ ให้เมืองอัจฉริยะอมตะเป็นพื้นที่การลงทุนที่สมบูรณ์แบบในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และเป็นศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคนี้ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยต่อไป ซึ่งบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะสมาร์ทซิตี้ ชลบุรี ซึ่งได้เริ่มการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีความร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองอัจฉริยะในปีที่ผ่านมา
บริษัทฯ มองเห็นโอกาสจากการเติบโตของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพสูงในการเชื่อมต่อโครงข่ายธุรกิจกับห่วงโซ่อุปทานของโลก และอยู่ในความสนใจของนักลงทุนชั้นนำ ประกอบกับนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการเชื่อมต่อมากขึ้น กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้จึงมีศักยภาพสูงในการรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต บริษัทฯ จึงได้มีการขยายธุรกิจการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV โดยนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาเมือง และนำต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะไปเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว
ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามมีความโดดเด่นจากมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในประเทศเวียดนามในภาคการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยหลังจากการระบาดของ COVID-19 ประเทศเวียดนามยังคงขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2565 ที่ผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 8 จากการขยายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น บริษัทชั้นนำในกลุ่มเทคโนโลยี smart phone และเซมิคอนดักเตอร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศเกาหลี ที่ให้ความสนใจการลงทุนในเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง ในปี 2567 ผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) เติบโตที่ร้อยละ 7 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่าร้อยละ 40 จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างภายในประเทศ
ประเทศเวียดนามเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่จากพายุไต้ฝุ่นยางิ (Typhoon Yagi) ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม ผลเสียหายของพายุนางิได้สร้างความสูญเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ นำไปสู่ผลกระทบในระดับประเทศต่อภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจต่อประเทศเป็นจำนวนเงินถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา: รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)) โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ฮาลอง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกว่างหนิง ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิ โดยตรงจากกระแสลมแรงมากกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งสถานประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ฮาลองได้รับความเสียหายจากความรุนแรงของพายุเช่นเดียวกัน จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของจังหวัด และสถานประกอบการภายในนิคมฯ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถกลับมาเริ่มดำเนินงานได้ภายในเวลา 17 วัน และใช้เวลา 84 วันในการฟื้นฟูความเสียหายภายในนิคมฯ และผู้ประกอบการทั้งหมดกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ
บริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนไปในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งนับเป็นเวลา 30 ปีที่บริษัทฯ มีประสบการณ์ในการลงทุนในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันบริษัทฯ พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมและเมืองภายใต้แนวคิด “Perfect Smart City” ในประเทศเวียดนามจำนวน 6 โครงการ มีที่ดินที่ได้รับอนุมัติ Investment Registration Certificate แล้วทั้งหมด 2,593.4 เฮกตาร์ หรือ 16,208.75 ไร่ ในภูมิภาคเวียดนามใต้ และเวียดนามเหนือ ซึ่งในช่วงปี 2567 โครงการของบริษัทฯ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) มีการเติบโตเพิ่มขึ้น จากการขยายการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด
แนวโน้มการลงทุนเวียดนามทั้งการลงทุนจากภายในและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ยอดการเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง จังหวัดกว่างหนิง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะอมตะ ซิตี้ ลองถั่น จังหวัดดองไน ซึ่งอยู่พื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ของเวียดนามตามลำดับ ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยข้อได้เปรียบในหลายด้าน ทั้งในทำเลที่ตั้ง แรงจูงใจสิทธิประโยชน์ในการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และบริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนในทั้งสองพื้นที่นั้น จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยยกระดับความสามารถและคุณภาพชีวิตของแรงงานในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะมีอัตราการจ้างงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง ในอนาคต
ในปี 2567 นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ฮาลอง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกว่างหนิง ทางตอนเหนือของเวียดนาม ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ (รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า) จากภาคการผลิตของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และยุโรป โดยโครงการนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ชั้นนำของจังหวัด จนถึงปัจจุบัน มีโครงการลงทุนจำนวน 19 โครงการที่ได้รับใบรับรองการจดทะเบียนการลงทุน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการเหล่านี้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของบริษัทฯ และจังหวัดกว่างหนิง อีกทั้งยังมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดด้วย ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ลอง ถั่น ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดดองไน ที่พร้อมรองรับการลงทุนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันมีโครงการลงทุนจำนวน 6 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 190 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลังจากประเทศจีนได้ประกาศโครงการ Belt & Road Initiative (BRI) ในปี 2556 เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อเศรษฐกิจจีน กับภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ซึ่งประเทศลาวเป็นหนึ่งในเส้นทางทางบกที่จะเชื่อมต่อสินค้าจากประเทศจีนผ่านภาคเหนือของประเทศลาว มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทางรถไฟความเร็วปานกลาง จึงทำให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะทางรถไฟจีน-ลาว ตั้งแต่เมืองบ่อเต็นซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศจีนและลาว ไปจนถึงนครเวียงจันทร์ รวมระยะทางกว่า 1,035 กิโลเมตร และเริ่มเดินรถในช่วงปลายปี 2564 ปัจจุบัน เส้นทางนี้รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าสูงถึง 19.6 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 50,000 ตันต่อวัน โดยในจำนวนนี้เป็นการขนส่งระหว่างประเทศถึง 4.78 ล้านตันแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของรถไฟจีน-ลาวในการสนับสนุนการค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาค
การเปิดให้บริการของทางรถไฟจีน-ลาว นับว่าเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ในการพัฒนาเมืองสมบูรณ์แบบที่สร้างโอกาสให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจในประเทศลาว จึงได้จัดตั้ง AMATA City Lao Sole Co., Ltd. ขึ้นในปี 2563 เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะและนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศลาว ในแต่ละโครงการฯ สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศลาว มีแหล่งผลิตจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังน้ำ พร้อมทั้งพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะภายในโครงการที่สามารถรองรับความต้องการพลังงานหมุนเวียนของสถานประกอบการ
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คุณมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, คุณอาสา สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด, และคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและกลุ่มอมตะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เมืองสมัยใหม่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (สปป. ลาว) และ บริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว จำกัด โดยมีคุณบัววัน วิลาวงศ์ ว่าการแทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคุณวรงค์ ตังประพฤทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด เป็นผู้ลงนามความร่วมมือ ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในด้านการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมตามหลักการเมืองสมัยใหม่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “Smart & Eco City” ใน สปป.ลาว โดยเฉพาะการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับโครงการอมตะในแขวงหลวงน้ำทา และ แขวงอุดมไซ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภายใต้ แนวความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย โครงการอมตะในแขวงหลวงน้ำทา (โครงการ อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย) และ แขวงอุดมไซ (โครงการ อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ)
นอกจากการพัฒนาโครงการแล้ว บริษัทฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างแรงดึงดูดในการลงทุนในประเทศลาว โดยเสนอให้รัฐบาล สปป. ลาว พิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับพิจารณาปรับปรุงกฏระเบียบในการดำเนินธุรกิจในประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันประเทศลาว อยู่ที่ลำดับที่ 154 จากการจัดลำดับโดยธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งพิจารณาถึงขั้นตอนและระยะเวลาการขออนุญาตดำเนินการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ กฎหมาย กฎระเบียบ และการบังคับใช้
ในปี 2567 บริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว จำกัด ได้เริ่มดำเนินการออกแบบก่อสร้าง โครงการอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ ซึ่งมีพื้นที่โครงการทั้งหมด 31.5 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่ที่ ประมาณ 18.10 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของพื้นที่ โครงการในระยะที่ 1 จะมีพื้นที่ 8.98 ตารางกิโลเมตร จากการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของรัฐบาล และแขวงอุดมไซ บริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว จำกัด ได้เริ่มดำเนินการชดเชยที่ดินในพื้นที่โครงการระยะที่ 1 แล้ว และคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568 และเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
การพัฒนาธุรกิจในประเทศลาวนั้น บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น บริษัทฯ จึงได้นำต้นแบบการดูแล รักษา และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการในประเทศไทย ไปประยุกต์ใช้ในโครงการที่ประเทศลาว เช่น นโยบายการจัดการน้ำและของเสีย การดูแลและพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อสร้างสมดุลแห่งการเติบโต โดยบริษัทฯ ได้ริเริ่มแนวคิดในการชักชวนบริษัทผู้ประกอบการที่จะดำเนินการภายในโครงการฯ ได้แบ่งกำไรจากการประกอบการในพื้นที่ เพื่อดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลพื้นที่ป่าไม้รอบบริเวณโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการภายในโครงการฯด้วย ตามปรัชญาธรุกิจ ALL WIN ของบริษัทฯ
การพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียและสังคม
จากการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ บริษัทฯ พบว่าโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นแรงงานที่มีทักษะ เพื่อให้มีแรงงานที่มีคุณภาพเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและสามารถตอบสนองเทคโนโลยีและนวัตกรรมของธุรกิจในอนาคตได้ บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกให้มีทักษะความรู้และความสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ โดยในปี 2567 ได้ดำเนินการดังนี้
พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในประเด็นที่ลูกค้าให้ความสำคัญในระดับสูง เนื่องจากลูกค้ามีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าดังนี้
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม จึงได้พัฒนาธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงได้พัฒนาโรงแรมนิกโก้ อมตะซิตี้ ชลบุรี ขึ้นโดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Daiwa House Group และบริษัท Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (JOIN) ภายใต้การบริหารของ Okura Nikko Hotel Management ซึ่งเป็นเครือโรงแรมระดับสากลของญี่ปุ่น และยังเป็นโรงแรมแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด “บ้านของคนไกลบ้าน” พร้อมสนับสนุนกิจกรรมของผู้ประกอบการอย่างครบวงจร
โรงแรมนิกโก้ อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นโรงแรมแห่งแรกและแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี และยังเป็นศูนย์รวมการให้บริการที่พักมาตรฐานญี่ปุ่นระดับนานาชาติ ตอบสนองความต้องการของโรงงานญี่ปุ่นกว่า 450 โรงงานที่ดำเนินกิจการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในเฟสใหม่ของบริษัทฯ และในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารจัดการนวัตกรรม เพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน และลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น บริษัทฯจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรตั้งแต่การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม และความรู้ความสามารถของบุคลากรในบริษัทฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ในคุณลักษณะของการเป็นคนอมตะ (AMATA DNA) ในเรื่อง Innovative การมีความคิดสร้างสรรค์ ลองคิดสิ่งใหม่เพื่อการพัฒนา ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานในทุกระดับ
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้พัฒนากระบวนการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Innovation Management Process) ขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการนวัตกรรมของบริษัทฯ ส่งเสริมกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
โดยบริษัทฯ ได้มีวิธีการในการจัดหานวัตกรรมที่สอดคล้องกับธุรกิจ (INPUT) อยู่ 2 แนวทาง คือ 1) การร่วมมือกับหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อพัฒนานวัตกรรม (EXTERNAL) และ 2) การส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทฯ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมทางธุรกิจ (INTERNAL) โดยนวัตกรรมที่ได้นั้นไม่ว่าจะเป็นเพียงแนวคิด หรือโครงการที่ดำเนินการแล้ว บริษัทฯ จะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม (VALUE-ADDED) ก่อนส่งมอบคุณค่านั้นให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียต่อไป
บริษัทฯ วางกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและโครงการย่อยผ่านหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic Business Partners) เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ พัฒนาโครงการธุรกิจใหม่ภายใต้กรอบแนวคิดเมืองอัจฉริยะอมตะ พื้นที่เมืองอัจฉริยะอมตะมีเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็นโซนเมืองอัจฉริยะตามความร่วมมือกับหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจ จากประเทศจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ เป้าหมายคือเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตคนทำงาน ส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจ นวัตกรรม และอำนวยความสะดวกในกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา
การร่วมมือกับบริษัทและองค์กรชั้นนำเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้โครงการต่างๆ แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในการเรียนรู้แนวคิด เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อสร้างกระบวนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี (Technology Transfer) และสามารถต่อยอดไปยังการวิจัย และคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
บริษัทฯ ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้พนักงานในกลุ่มอมตะ ทุกระดับได้แสดงศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานของบริษัทฯ โดยทุกปี บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประกวดโครงการ (Innovation Project) และแนวคิดด้านนวัตกรรม (Innovation Idea) เพื่อเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้พนักงานได้แสดงศักยภาพ และเสนอแนวความคิดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการทำงานร่วมกัน
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้จัดโครงการประกวด “AMATA INNO Awards 2024” โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะผู้บริหารระดับสูง และผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนจากองค์กรภายนอก มาร่วมเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาในอนาคต บริษัทฯ ได้จัดสรรรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจให้พนักงานส่งโครงการและแนวคิดด้านนวัตกรรมเข้าร่วมโครงการ รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 2,500,000 บาท โดยเงินรางวัลส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอมตะ เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ในปีนี้มีพนักงานส่งผลงานเข้าประกวด รวมทั้งสิ้น 23 ชิ้นงาน โดยเป็นโครงการนวัตกรรมที่ได้ดำเนินการแล้วจำนวน 10 โครงการ (Innovation Project) และแนวคิดด้านนวัตกรรมรวม 13 แนวคิด (Innovation Idea)
ในปี 2567 นี้ ผลงานนวัตกรรมประเภทโครงการ ซึ่งต้องมีการดำเนินงานไปแล้วและวัดผลในเชิงปริมาณได้จริงทั้งในมิติเศรษฐกิจและมิติสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เมื่อรวมโครงการทั้งหมดแล้วสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่บริษัทฯ ทำให้มีรายได้เพิ่มประมาณ 5 ล้านบาท และสามารถช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 12.13 ล้านบาท อีกด้วย
ในปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,900.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 53.63 และมีกำไรสุทธิจำนวน 3,473.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวนร้อยละ 41.13 สามารถจำแนกโครงสร้างรายได้หลักออกเป็น 3 ส่วนคือ รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 9,004.13 ล้านบาท รายได้ค่าสาธารณูปโภค จำนวน 4,779.23 ล้านบาท รายได้จากการให้เช่าและรายได้อื่น จำนวน 1,117.23 ล้านบาท
ในปี 2567 เป็นปีที่มีปัจจัยเชิงบวกที่กระตุ้นให้เกิดการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์หลายข้อ ทั้งปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาอย่างรุดหน้า ปัจจัยจากนโยบายภาครัฐในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) ซึ่งทางภาครัฐยังคงส่งเสริมนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 นโยบายด้านการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จับมือหน่วยงานพันธมิตรเร่งดึงดูดนักลงทุน ชูไทยเป็นสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมมหาอำนาจขั้วต่าง ๆ ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค เทรนด์โยกย้ายการลงทุนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มจีนเร่งสร้างฐานผลิตใหม่ในไทย สะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาใช้พื้นที่ลงทุนของอมตะ
ผลการดำเนินงานในปี 2567 ธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการและการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการพัฒนาธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งในด้านที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และบริการให้เช่า ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเติบโตระยะยาวของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ทั้งจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำและขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่อมตะยึดมั่นเพื่อสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทำให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 87.43 เนื่องจากบริษัทฯ มีการโอนที่ดินทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายโครงการทำให้มีความต้องการสาธารณูปโภคและบริการเพิ่มขึ้น จึงทำให้รายได้ค่าสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 23.32 และรายได้จากการให้เช่าอาคารโรงงานสำเร็จรูปและรายได้อื่น ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 9.62 ตามลำดับ
+84 251 3991 007 (ใต้)
+84 203 3567 007 (เหนือ)
+95 1 230 5627
© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved. Web by Toneyes