ความเสี่ยง

ปัจจุบันผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับแนวโน้มของโลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) มากขึ้น ตลอดจนกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนที่มีความสนใจต่อผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของตนเองมากขึ้น ดังนั้น บริษัทฯ อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขัน หากไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มเติมจากความต้องการขั้นพื้นฐานได้ เช่น ความต้องการของลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้การเข้ามาของคู่แข่งทางธุรกิจบริการและสาธารณูปโภครายใหม่ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วกว่า ทำให้การแข่งขันในตลาดรุนแรงยิ่งขึ้น บริษัทฯ อาจสูญเสียรายได้จากการขายสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญ

โอกาส

บริษัทฯ มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย การมีส่วนร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดส่งผลให้บริษัทฯ สามารถติดตามและรับรู้การเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าได้ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และครบวงจร พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อรองรับลูกค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve industries) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว นอกจากนี้ การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้ชุมชนมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และสามารถอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้ในระยะยาว 

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะ ภายใต้แนวคิดเมืองสมบูรณ์แบบที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มแบบ ALL WIN ด้วยหลักการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นศูนย์กลาง (Stakeholder Centric) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจึงมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ สามารถแก้ปัญหาและสนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจให้กับลูกค้าได้ในระยะยาว และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทางตรงที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีในการอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเกิดคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

บริษัทฯ ได้กำหนดกรอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ “Products & Services Development Framework” ในการออกแบบสินค้าและบริการที่สามารถส่งมอบคุณค่าสูงสุดให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงกับลูกค้า (Stakeholder Engagement) ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อสำรวจ ประเมิน และวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าที่มีศักยภาพในอนาคตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประกอบกับการวิเคราะห์แนวโน้ม และ Mega Trends ที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นำข้อมูลที่ได้มาประเมินผลกระทบ ความเร่งด่วน และระดับความสำคัญ เพื่อระบุวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และเตรียมพร้อมทางด้านการตลาด การร่วมมือกับหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Innovation) เพื่อออกแบบสินค้าและบริการที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีการติดตามรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ พัฒนา Sprint Team จากกลุ่มพนักงานศักยภาพสูง (Talent) และพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

การสร้างความเชื่อมโยงกับลูกค้า

บริษัทได้พัฒนา Customer Communities เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงกับลูกค้าปัจจุบันที่ดำเนินธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะเพื่อความสัมพันธ์อันดี และการสื่อสารเพื่อสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และปัญหาต่าง ๆ ของลูกค้า โดยประเด็นที่ได้จะถูกนำไปพิจารณาเพื่อพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดสินค้าและการให้บริการต่าง ๆ ผลการดำเนินงานในปี 2565 มีดังนี้

นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงลึกโดยการสัมภาษณ์ลูกค้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกไปดำเนินการวิเคราะห์ประกอบการปรับปรุงแผนกลยุทธ์องค์กร และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ พบว่า วิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวทั่วโลกในการบริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วนเพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น กลายเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกประกาศใช้นโยบาย มาตรการ ระเบียบปฏิบัติ รวมถึงกฎหมายใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อป้องกันและควบคุมผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก ที่มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมายของประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ และปฏิบัติตามนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทแม่ในต่างประเทศอย่างเคร่งครัด จึงมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นไปตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญ 

 

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะ

บริษัทมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อสนองตอบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่รองรับความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในอนาคตยุคชีวิตวิถีถัดไปหลังจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 (Next Normal) โดยพัฒนาพื้นที่การลงทุนโซนใหม่ที่มีมาตรฐานระดับสากล พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแรงงานที่มีคุณภาพ ให้เมืองอัจฉริยะอมตะเป็นพื้นที่การลงทุนที่สมบูรณ์แบบในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และเป็นศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคนี้ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยต่อไป ซึ่งแนวคิดเมืองอัจฉริยะอมตะ (AMATA Smart City) นั้น จะเริ่มต้นจากการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันของบริษัทฯ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และต่อยอดไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของบริษัทฯ ในอนาคต  

การพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศ

บริษัทฯ มองเห็นโอกาสจากการเติบโตของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพสูงในการเชื่อมต่อโครงข่ายธุรกิจกับห่วงโซ่อุปทานของโลก และอยู่ในความสนใจของนักลงทุนชั้นนำ ประกอบกับนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการเชื่อมต่อมากขึ้น กลุ่มประเทศใภูมิภาคนี้จึงมีศักยภาพสูงในการรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต บริษัทฯ จึงได้มีการขยายธุรกิจการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV โดยนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาเมือง และนำต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะไปเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว

โครงการในประเทศเวียดนาม 

ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามมีความโดดเด่นจากมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในประเทศเวียดนามในภาคการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีนและญี่ปุ่น แม้ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศเวียดนามจะส่งผลต่อผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ที่ลดต่ำลงจากการชะลอการลงทุนในภาคการผลิต แต่การบริหารจัดการและการควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ระบบนิเวศการลงทุนภาคการผลิตในประเทศเวียดนามกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง ทำให้ใน ปี 2565 ประเทศเวียดนามมีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละและการคาดการณ์ของธนาคารโลก ประเมินศักยภาพของประเทศเวียดนามจะมีการขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ และต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ในปี 2566 จากร้อยละ 2.6 ในปี 2564 ดังนั้นประเทศเวียดนามจึงเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นหมายในการพัฒนาโครงการฯ และการลงทุนของบริษัทฯ 

บริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนไปในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งนับเป็นเวลา 28 ปีที่บริษัทฯ มีประสบการณ์ในการลงทุนในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันบริษัทฯ พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมและเมืองภายใต้แนวคิด “Perfect Smart City” ในประเทศเวียดนามจำนวน 6 โครงการ มีที่ดินที่ได้รับอนุมัติ Investment Registration Certificate แล้วทั้งหมด 2,616 เฮกตาร์ หรือ 16,350 ไร่ ในภูมิภาคเวียดนามใต้ และเวียดนามเหนือ ซึ่งในช่วงปี 2565 โครงการของบริษัทฯ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) มีการเติบโตเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และพลังงานสะอาด ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงวิกฤต COVID-19 และอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของตลาดภายในประเทศเวียดนาม  

โครงการในประเทศลาว 

หลังจากประเทศจีนได้ประกาศโครงการ Belt & Road Initiative (BRI) ในปี 2556 เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อเศรษฐกิจจีน กับภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ซึ่งประเทศลาวเป็นหนึ่งในเส้นทางทางบกที่จะเชื่อมต่อสินค้าจากประเทศจีนผ่านภาคเหนือของประเทศลาว มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทางรถไฟความเร็วปานกลาง จึงทำให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะทางรถไฟจีน-ลาว ตั้งแต่เมืองบ่อเต็นซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศจีนและลาว ไปจนถึงนครเวียงจันทร์ รวมระยะทางกว่า 1,035 กิโลเมตร และเริ่มเดินรถในช่วงปลายปี 2564 

การเกิดขึ้นของทางรถไฟจีน-ลาว นับว่าเป็นโอกาสการเชื่อมต่อเศรษฐกิจในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพสูง และด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ในการพัฒนาเมืองสมบูรณ์ที่สร้างโอกาสให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจในประเทศลาว จึงได้จัดตั้ง AMATA City Lao Sole Co., Ltd. ขึ้นในปี 2563 เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะและนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศลาว ในแต่ละโครงการฯ สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศลาว มีแหล่งผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) พร้อมทั้งพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะภายในโครงการที่สามารถรองรับความต้องการพลังงานหมุนเวียนของสถานประกอบการ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2566 

อย่างไรก็ตามการพัฒนาธุรกิจในประเทศลาวนั้น บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น บริษัทฯ จึงได้นำต้นแบบการดูแล รักษา และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการในประเทศไทย ไปประยุกต์ใช้ในโครงการที่ประเทศลาว เช่น นโยบายการจัดการน้ำและของเสีย การดูแลและพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อสร้างสมดุลแห่งการเติบโต โดยบริษัทได้ริเริ่มแนวคิดในการชักชวนบริษัทที่จะดำเนินการภายในโครงการฯ ได้แบ่งกำไรจากการประกอบการในพื้นที่ เพื่อดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลพื้นที่ป่าไม้รอบบริเวณโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการภายในโครงการฯด้วย ตามปรัชญาธรุกิจ ALL WIN ของบริษัทฯ

การจัดการเชิงนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารจัดการนวัตกรรม เพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน และลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น บริษัทฯจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรตั้งแต่การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม และความรู้ความสามารถของบุคลากรในบริษัทฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ในคุณลักษณะของการเป็นคนอมตะ (AMATA DNA) ในเรื่อง Innovative การมีความคิดสร้างสรรค์ ลองคิดสิ่งใหม่เพื่อการพัฒนา ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานในทุกระดับ 

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้พัฒนากระบวนการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Innovation Management Process) ขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการนวัตกรรมของบริษัทฯ ส่งเสริมกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม 

โดยบริษัทฯ ได้มีวิธีการในการจัดหานวัตกรรมที่สอดคล้องกับธุรกิจ (INPUT) อยู่ 2 แนวทาง คือ 1) การร่วมมือกับหุ้นส่วนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อพัฒนานวัตกรรม (EXTERNAL) และ 2) การส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทฯ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมทางธุรกิจ (INTERNAL) โดยนวัตกรรมที่ได้นั้นไม่ว่าจะเป็นเพียงแนวคิด หรือโครงการที่ดำเนินการแล้ว บริษัทฯ จะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม (VALUE-ADDED) ก่อนส่งมอบคุณค่านั้นให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียต่อไป 

 

ผลดำเนินการด้านเศรษฐกิจ

ในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 8,049.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 37.79 และมีกำไรสุทธิจำนวน 2,341.35 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 จำนวนร้อยละ 66.97 สามารถจำแนกโครงสร้างรายได้หลักออกเป็น 3 ส่วนคือ รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2,880.60 ล้านบาท รายได้จากค่าสาธารณูปโภคและบริการ จำนวน 2,800.83 ล้านบาท และรายได้จากการให้เช่าและอื่น ๆ จำนวน 2,180.99 ล้านบาท 

ในปี 2565 การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ลดน้อยลง และการเดินทางระหว่างประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 31.16 เนื่องจากบริษัทฯ มีการโอนที่ดินทั้งในประเทศและต่างประเทศในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 การปรับเพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของสภาวะการลงทุนในปี 2565 นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท ในพื้นที่โครงการของบริษัทฯ เช่น Data Center และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัทฯ สามารถตอบสนองความต้องการลงทุนในพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางพลังงานและสาธารณูปโภคที่มีความพร้อมได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ในปี 2565 ภาคธุรกิจเร่งการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าที่กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่การใช้จ่ายชะลอลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับการขยายโครงการทำให้มีความต้องการสาธารณูปโภคและบริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงทำให้รายได้จากค่าสาธารณูปโภคและบริการ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 41.70 และรายได้จากการให้เช่าอาคารโรงงานสำเร็จรูปของบริษัทฯ และรายได้อื่นๆ มีการเติบโตขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 58.75

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes