ความเสี่ยง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ อย่างมาก นอกจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical risk) จากด้านภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงทำให้เกิดผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มในห่วงโซ่คุณค่า เช่น การใช้น้ำในสายการผลิตของโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานโรงงานและชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ รวมถึงผลกระทบต่อบริษัทฯ ที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นจากการเตรียมพร้อมให้สามารถจัดหาน้ำสะอาดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานส่งให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และการป้องกันผลกระทบทางกายภาพจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่และโครงการในอนาคต

นอกจากนี้ ในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นความเสี่ยง (Transition risk) ต่อทั้งบริษัทฯ และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทฯ ต้องเตรียมพร้อมรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าในอนาคต เช่น การจัดเตรียมและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสาธารณูปโภคต่างๆ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ในอนาคต

โอกาส

บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่มาจากความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง กฎเกณฑ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศ และนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ  ตลอดจนตอบสนองความต้องการของลูกค้าใหม่หรือกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น 

แนวทางการบริหารจัดการ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายสำคัญระดับโลกที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และความยั่งยืนของสังคมโลก ซึ่งผลกระทบในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558 ที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ลง 20-25% ภายในปี 2573 เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ (Glasgow Climate Pact) ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้ถ่านหินและพลังงานฟอสซิล รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติเป้าหมายที่ 13 

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทฯ จึงได้บูรณาการ “นโยบายการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดเป้าหมายขององค์กรและแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2583 และลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อม (scope 1 & 2) ต่อหน่วยพื้นที่ที่ดำเนินงาน ลงร้อยละ 30 ในปี 2573 เทียบกับปีฐาน 2562  บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานและรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภายใต้แคมเปญ “Save Earth, Safe Us” โดยมีกลยุทธ์การจัดการ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 

1. สร้างเมืองที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน (Climate Resilience City)

บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เช่น รูปแบบการตกของฝน ปริมาณน้ำฝนและความรุนแรงของพายุฝนในพื้นที่ภาคตะวันออก จนเกิดภาวะน้ำแล้งหรือน้ำท่วมในบางปี บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำทุกประเภทอย่างบูรณาการและยั่งยืน ได้แก่ น้ำดิบ น้ำใช้ น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำท่วม เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำและสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและชุมชนในพื้นที่ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้เสีย  

  • มุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงทางน้ำโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่ 
    บริษัทฯ กำหนดเป็นนโยบายในจัดหาน้ำดิบสำรองให้มีมากกว่าความต้องการใช้ในนิคมอุตสาหกรรมต่อปี อย่างน้อย 150%  

  • ลดการพึ่งพาน้ำผิวดินโดยใช้ประโยชน์จากน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วตามหลักการ Zero discharge 
    บริษัทฯ นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดการพึ่งพาน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติและลดความเสี่ยงและความรุนแรงของผลกระทบหากเกิดภาวะน้ำแล้ง  

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการเตรียมรับมือและป้องกันภาวะน้ำท่วม 
    บริษัท ฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับมือและป้องกันภาวะน้ำท่วม และส่งเสริมผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มให้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า การรักษาความสะอาดของลำรางสาธารณะให้ปราศจากขยะและสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำ ผ่านศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของอมตะ และโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการจัดการน้ำ 

  • สรรหาทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์  
    บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้งของโครงการที่จะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุดและสามารถดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว จึงใช้ผลการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแต่ละภูมิภาคเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกทำเลที่ตั้งของโครงการในอนาคต 
2. สร้างเมืองที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral City)  

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นในการมุ่งสู่การเป็นเมืองที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2573 เทียบกับปีฐาน 2562 เพื่อสนับสนุนความตกลงปารีส (Paris Agreement) และเป้าหมายของประเทศไทยที่ได้ประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608  

  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
    บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในสำนักงานและพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นอุปกรณ์ที่ประหยัดไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และบูรณาการกลยุทธ์นี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแผนธุรกิจของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะ (AMATA Smart City) ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจากการใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ  
  • ลดขยะที่ส่งกำจัดด้วยวิธีฝังกลบให้น้อยที่สุด 
    บริษัทฯ นำหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม และส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิลและใช้ประโยชน์จากขยะรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อลดขยะที่ส่งกำจัดด้วยวิธีฝังกลับให้เหลือน้อยที่สุด ตามเป้าหมาย Zero Waste to Landfill  
  • เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
    บริษัทฯ ส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจและพื้นที่ เพื่อใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางของบริษัทฯ  
  • ร่วมมือกับพันธมิตรในการเพิ่มความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    บริษัทฯ ส่งเสริมให้มีการศึกษาและพัฒนาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่าและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงใส่ใจในการออกแบบและบริหารโครงการด้วยเทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) และมาตรฐานอาคารของ Leadership in Energy & Environmental Design (LEED) รวมถึงการพัฒนา Platform ต่างๆ 
3. พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศ 

บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่มาจากความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง กฎเกณฑ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศ และนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ  ตลอดจนตอบสนองความต้องการของลูกค้าใหม่หรือกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ผลการดำเนินงานด้านการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บริษัทฯ ได้จัดทำข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ปีละ 1 ครั้ง โดยอ้างอิงวิธีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประกอบด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (scope 1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (scope 2) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (scope 3) โดยมีขอบเขตการรายงานครอบคลุม 3 พื้นที่ประกอบด้วย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เฉพาะในพื้นที่สำนักงานของบริษัทฯ ทั้งสามแห่ง และในพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง ที่ดูแลรับผิดชอบโดยบริษัทฯ 

ในปี 2565 บริษัทฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยเป็นข้อมูลของปี 2564 

ในปี 2564 บริษัทฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 60,207 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงาน จำแนกเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (scope 1) จำนวน 408 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อมา (scope 2) จำนวน 16,774  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  รวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อม (scope 1 & 2) จำนวน 17,182 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 4.5 เทียบกับปีฐาน 2562  อัตราการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยพื้นที่ที่ดำเนินงาน (Combined GHG (scope 1&2) Intensity) ของปี 2564 เท่ากับ 0.54 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ หรือ 3.35 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเฮกตาร์  

ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ ในปี 2565 จากการคำนวณโดยอ้างอิงวิธีการคำนวณตามแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (scope 1) จำนวน 443 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อมา (scope 2) จำนวน 15,370  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  รวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อม (scope 1 & 2) จำนวน 15,813 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 7.97 และลดลงจากปีฐาน 2562 ร้อยละ 12.12 เป็นผลจากการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อมาจากภายนอก จากกิจกรรมการประหยัดพลังงาน และจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปี 2565 นี้ยังอยู่ในระหว่างการทวนสอบของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (VGREEN) คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 

อัตราการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมต่อหน่วยพื้นที่ที่ดำเนินงาน (Combined GHG (scope 1&2) Intensity) ของปี 2565 เท่ากับ 0.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ หรือ 3.06 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเฮกตาร์ ลดลงร้อยละ 8.6 จากปี 2564 และลดลงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562

ในปี 2564 บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (scope 3) จำนวนรวม 43,025 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7  เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมการจัดการขยะของผู้รับเหมา ตามการแนะนำขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ส่วนในปี 2565 บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (scope 3) จำนวนรวม 42,028 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลงร้อยละ 2.3  จากปี 2564  การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (scope 3) สามารถจำแนกตามกิจกรรมการทำงานของผู้รับเหมาได้ดังนี้  
บริษัทฯ จึงส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้ได้มากที่สุดเพื่อลดการกำจัดโดยวิธีฝังกลบ และสนับสนุนให้ผู้รับเหมานำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดูแลระบบสาธารณูปโภคของบริษัทฯ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อมาและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (scope 3)  ให้ได้มากที่สุด 

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes