ความเสี่ยง

นิคมอุตสาหกรรมของอมตะในประเทศไทยเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,100 โรงงานที่ดำเนินกิจการในปัจจุบัน มีพนักงานทำงานในโรงงานกว่า 260,000 คน สร้างขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาลในแต่ละปี หากการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานด้านขยะ ต่อสิ่งแวดล้อม และต่อชุมชนโดยรอบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และอาจมีผลกระทบต่อการขออนุญาตเพื่อการขยายกิจการของบริษัทฯ ในอนาคต 

โอกาส

การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าจากขยะด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ   และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และได้รับการยอมรับจากชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบด้วย

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ตั้งแต่การสร้างขยะจนถึงการกำจัดขยะ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายการบริหารจัดการของเสียเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรมให้น้อยที่สุด ด้วยการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมาย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และหลักวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้มีการรีไซเคิลและการนำกลับไปใช้ใหม่ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดการเกิดขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ขยะที่บริษัทฯ รับผิดชอบ เป็นขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมไม่อันตรายเท่านั้น ส่วนของเสียอันตรายนั้น โรงงานอุตสาหกรรมต่างดำเนินการจัดการเอง ภายใต้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

บริษัทฯ มอบหมายให้ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (AFS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งในประเทศไทย โดยใช้แนวทางในการบริหารจัดการขยะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  และตามขอบเขตอำนาจในความรับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะ ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้บริการจัดการขยะมูลฝอยของบริษัทฯ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 587 โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 282 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 81.94 และ 71.17 ของโรงงานทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565

การจัดการขยะมูลฝอยตามเป้าหมาย Zero Waste to Landfill

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบของการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทฯ จึงตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบให้มากที่สุด โดยนำหลักการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการให้บริการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก และกำจัดขยะมูลฝอย ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2554 และกำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานไปที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง

บริษัทฯ มีการดำเนินการคัดแยกขยะมูลฝอยโดยผู้รับเหมาที่โรงงานคัดแยกขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และส่งไปกำจัดโดยวิธีต่าง ๆ โดยผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตในการกำจัดขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมตามกฎหมาย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแนวทางบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ในการให้คำแนะนำโรงงานที่ใช้บริการกำจัดขยะมูลฝอยของบริษัทฯ ในการคัดแยก จำแนกประเภทของขยะมูลฝอยก่อนส่งมายังโรงคัดแยกขยะ เพื่อให้ขยะที่เข้าสู่กระบวนการคัดแยกนั้นมีคุณภาพ สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเชื้อเพลิงขยะ และขยะรีไซเคิล และเหลือขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ที่ต้องกำจัดโดยวิธีฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย

การจัดการขยะมูลฝอยในนิคมอุตสาหกรรม

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการจัดการขยะมูลฝอยแก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง จำนวนรวมทั้งสิ้น 26,698.97 ตัน แบ่งออกเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 19,381.27 ตัน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 7,317.70 ตัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกของพนักงานคัดแยกขยะ การปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะจากการส่งไปฝังกลบ เป็นการคัดแยกขยะรีไซเคิล และการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนในรูปแบบเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel: RDF) เพื่อส่งต่อไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระบวนการเผาในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยสามารถคัดแยกขยะรีไซเคิลจากขยะมูลฝอยคิดเป็นร้อยละ 11.15  ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดที่จัดการในอาคารคัดแยกขยะของบริษัทฯ และมีขยะมูลฝอยที่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel: RDF) ได้ ร้อยละ 88.85 ทำให้บริษัทฯ สามารถลดปริมาณขยะที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบเหลือร้อยละ 0 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดที่จัดการในอาคารคัดแยกขยะของบริษัทฯ

สืบเนื่องการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563-2566 ที่ผ่านมา ทำให้มีขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งในสำนักงานของบริษัทฯ และภายในโรงงานของลูกค้าตามมาตรการป้องกันตนเองเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน เช่น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK (Rapid Antigen Test Kit) แม้ว่าขยะติดเชื้อเหล่านี้จะมีปริมาณไม่มากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปริมาณขยะมูลฝอยที่บริษัทฯ ให้บริการจัดการกับลูกค้า แต่จำเป็นต้องใช้บริการผู้รับกำจัด หรือผู้รับเหมาที่ได้รับอนุญาตให้กำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้องตามกฎหมาย และการแยกส่งกำจัดด้วยตนเองของแต่ละโรงงานทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดค่อนข้างสูง จึงเกิดความต้องการใช้บริการกำจัดขยะติดเชื้อซึ่งเป็นขยะมูลฝอยประเภทใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้ทำการพัฒนาบริการกำจัดขยะติดเชื้อ ด้วยการคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ในการให้บริการลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง โดยที่บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบ และติดตามเส้นทางการจัดการขยะด้วยระบบ GPS ที่ติดตั้งในรถขนส่งขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงเตาเผาขยะติดเชื้อ (Infectious Waste Incinerator) พร้อมรายงานผลเส้นทางการขนส่งให้ลูกค้ารับทราบแบบ Realtime เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยในปี 2566 มีขยะติดเชื้อที่ส่งกำจัดทั้งสิ้น 13.995 ตัน

การจัดการขยะตามแนวทาง Zero Waste to Landfill ทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการจัดการขยะมูลฝอยลงได้ 2.4 ล้านบาทในปี 2566 และผู้ประกอบการร้อยละ 80 ที่ใช้บริการการจัดการขยะของบริษัทฯ พึงพอใจและมีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการขยะของบริษัทฯ ว่าไม่มีการนำขยะออกไปจัดการอย่างผิดกฎหมาย ชุมชนในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีความมั่นใจในการจัดการขยะของโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการจัดการของเสียของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ด้วย เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทฯ จึงรณรงค์และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ ร่วมกันจัดการขยะและของเสียอย่างถูกต้องและเพิ่มการใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลขยะในหน่วยงานของตนให้มากขึ้น

การจัดการขยะและของเสียในสำนักงาน

บริษัทฯ รณรงค์ให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยลดขยะและของเสียในสำนักงาน จึงได้ทำการประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจเพื่อสร้างจิตสำนึกในการจัดการของเสียอย่างถูกต้อง และได้ดำเนินโครงการ All Save All Win ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  1. กิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการจัดการขยะและสร้างจิตสำนึก ผ่านทางอีเมลให้พนักงานทุกคนรับทราบ
  2. การส่งเสริมการลดการใช้กระดาษในสำนักงานเพื่อลดการสร้างขยะในสำนักงานทุกแห่งของบริษัทฯ และสนับสนุนให้เกิดการนำไปใช้ซ้ำและการรีไซเคิลกระดาษตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการกระดาษเก่า แลกกระดาษใหม่ Paper X : The Value of Your Waste” เพื่อนำกระดาษที่ใช้แล้วของบริษัทฯ มารีไซเคิล และแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 มีกระดาษใช้แล้วที่นำมารีไซเคิลในโครงการ ปริมาณ 938 กิโลกรัม
  3. การลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยให้พนักงานร่วมกันเลือกเมนูอาหารกลางวันที่ต้องการเพื่อลดการเกิดอาหารเหลือทิ้งหรือขยะอาหาร
  4. กิจกรรมแยกขยะ ส่งต่อขยะ นำไปสู่การจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ โดยทำการส่งต่อไปยัง 3 บริษัท ดังนี้
    • CirPlas เป็นบริษัทจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่มุ่งมั่นจะช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดโดยฝังกลบ ผ่านการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อชุบชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) จากการบริโภคในชีวิตประจำวัน
    • Recycle Day เป็นบริษัทที่สนับสนุนให้มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปสู่การจัดการปลายทางอย่างถูกต้อง
    • N15 Technology เป็นบริษัทที่จัดการขยะ โดยรับขยะกำพร้า และนำขยะที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมไปคัดแยกและทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน (Refuse-derived Fuel : RDF) ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล

      ในปี 2566 บริษัทฯ (สำนักงานกรุงเทพ) ได้มีการคัดแยกขยะและจัดส่งขยะพลาสติกประเภทรีไซเคิลและขยะกำพร้ารวมทั้งหมด 128.55 กิโลกรัม

  5. บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ ทิ้ง ทู แทรช (Ting To Trash) จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเริ่มต้นดำเนินการด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง - ปลายทาง (วันที่เริ่มโครงการ 9 ตุลาคม 2566)
  6. บริษัทฯ ได้จัดให้มีการอบรมในหัวข้อ “การคัดแยกขยะภายในสำนักงานตามหลัก 3Rs” ผ่านการบรรยายในห้อง และ Self-Learning ผ่านสื่อออนไลด์ช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการความสำคัญและผลกระทบจากการบริหารจัดการขยะ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 67 คน

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะของลูกค้า

การใช้นวัตกรรมในการจัดการขยะ

บริษัทฯ พัฒนาระบบบันทึกปริมาณขยะอัจฉริยะ (KoomKah Smart Manifest) ร่วมกับ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารข้อมูลการจัดเก็บขยะภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล พร้อมมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และยกระดับผู้ให้บริการเก็บขนส่งขยะ ลูกค้าผู้ใช้บริการสามารถทราบปริมาณขยะที่ถูกจัดเก็บได้แบบ realtime สามารถติดตามตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการกำจัดขยะของบริษัทฯ  นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ยังช่วยลดการสัมผัสเอกสารระหว่างผู้จัดเก็บขยะกับลูกค้า โดยใช้วิธีการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์แทน  ซึ่งในปี 2566 ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ที่ใช้บริการจัดการขยะมูลฝอยของบริษัทฯ ทุกรายได้ใช้บริการระบบบันทึกปริมาณขยะอัจฉริยะ (KoomKah Smart Manifest) ทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100  และในอนาคตจะขยายไปใช้ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ต่อไป

รางวัลการจัดการขยะอุตสาหกรรมและมูลฝอยในโรงงาน (Waste Management Awards)

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบที่เกิดจากการจัดการขยะอันตรายและไม่อันตรายอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับของโรงงานที่ไม่ได้ใช้บริการการจัดการขยะมูลฝอยของ บริษัทอมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (AFS)  บริษัทฯ จึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดโครงการ “รางวัลการจัดการขยะอุตสาหกรรมและมูลฝอยในโรงงาน (AMATA Best Waste Management Awards)” เป็นกิจกรรมประจำปีต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะอุตสาหกรรมประเภทไม่อันตราย ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลภายในโรงงานให้ดียิ่งขึ้น โดยการนำหลักการจัดการ 3Rs (Reduce-Reuse-Recycle principle) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการขยะ ซึ่งส่งผลให้โรงงานสามารถลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายให้ลูกค้ามีการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางภายในโรงงานที่มีประสิทธิภาพก่อนส่งมายังโรงงานคัดแยกขยะ เพื่อเพิ่มอัตราส่วนขยะที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และขยะรีไซเคิล

ในปี 2566 มีโรงงานสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 94 บริษัท โดยโรงงานทั้งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีความสนใจเข้าร่วมมากขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 81 บริษัท ซึ่งในปีนี้ได้มีการปรับเกณฑ์การตรวจประเมินให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีทั้งการตรวจประเมินแบบออนไลน์และ แบบตรวจประเมินในพื้นที่ (onsite) ซึ่งการตรวจประเมินแบบตรวจประเมินในพื้นที่ จะเป็นเกณฑ์ที่บังคับใช้สำหรับโรงงานที่ปรับระดับขึ้นจากปีก่อน และโรงงานที่สมัครเข้าร่วมประเมินในระดับทองและแพลทตินั่มเป็นปีแรก

บริษัทฯ มีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการ ผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งหน้าเว็บไซต์ ไลน์กลุ่มทางการของบริษัทฯ ไลน์กลุ่มย่อย ประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารการสมัครพร้อมหลักฐานแนบ ผ่านระบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์  การตรวจประเมินโครงการ การให้คำปรึกษา มีทั้งผ่านระบบออนไลน์ และตรวจประเมินในพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตามความต้องการของโรงงานเป็นหลัก

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes