ความเสี่ยง

นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเครียดน้ำ (water-stress area) ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของประชากรในพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนน้ำ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเสี่ยงและความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำของบริษัทฯ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบที่มีนัยสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียหลักของบริษัทฯ ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนปัญหาการเข้าถึงน้ำและการแย่งชิงน้ำในพื้นที่หากมีการจัดการที่ไม่ดี ประเด็นการบริหารจัดการน้ำใช้และน้ำทิ้งจึงเป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่อยู่ในความสนใจของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียมาโดยตลอด นอกจากนี้หากกระบวนการบริหารจัดการน้ำเสียไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถดูแลการปล่อยน้ำเสียของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ จะเพิ่มความเสี่ยงในการรั่วไหลของน้ำเสียออกสู่ภายนอกนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของชุมชนและสังคมโดยรอบ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อบริษัทฯ

โอกาส

การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการนำนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำมาใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรม จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน และสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำให้กับผู้ใช้น้ำทั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมและผู้ใช้น้ำที่อยู่ในชุมชนโดยรอบที่ต้องพึ่งพิงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสีย และต่อนักลงทุน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ในการเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำสูง

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำและมอบหมายคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ (Water Management Committee) ซึ่งประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะทำงานจากฝ่ายวิศวกรรม และบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด และบริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ โดยรายงานตรงต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 อย่างเคร่งครัด มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นประจำโดยห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเปิดเผยผลการดำเนินงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำใช้และน้ำเสียในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assessment) และนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring Report) เป็นประจำทุก 6 เดือน ให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่งรับทราบ รวมไปถึงการควบคุมดูแลลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ได้วางแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรน้ำดิบผิวดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และกำหนดเป็นเป้าหมายขององค์กร ในการบริหารจัดการน้ำเสียโดยไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกนิคมอุตสาหกรรมตามหลักการ Zero Discharge ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ รวมถึงทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมและน้ำเสียในจุดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และควบคุมดูแลให้มีค่าตัวชี้วัดคุณภาพน้ำไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือดีกว่า เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ บริษัทฯได้ส่งเสริมให้ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ รวมถึงใช้ความรู้ความสามารถที่บริษัทฯ มีไปช่วยพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของชุมชน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานราชการ และชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน

การจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุตสาหกรรม

ในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำ เพื่อใช้สนับสนุนกระบวนการผลิตและดำเนินงานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากความต้องการใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจการ เพื่อประเมินโอกาสและความเสี่ยงจากการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกับชุมชน

พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกซึ่งมีโอกาสเกิดวิกฤตภัยแล้งค่อนข้างสูง บริษัทฯ ได้มีการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ บริษัทฯ พบว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีความเสี่ยงหลักด้านปริมาณน้ำดิบเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีแหล่งน้ำดิบสำรองทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม และเพิ่มการนำน้ำผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเพื่อลดการพึ่งพาน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ตั้งอยู่ในส่วนต้นของพื้นที่รับน้ำ มีความเสี่ยงหลักคือความสมบูรณ์ของแหล่งต้นน้ำ และมีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของชุมชนโดยรอบในการกักเก็บทรัพยากรน้ำและการใช้ประโยชน์ร่วมกัน บริษัทฯ จึงได้มีการขยายอ่างเก็บน้ำดิบสำรองภายในนิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองจากภายนอกนิคมอุตสาหกรรม และดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าริมน้ำและป่าต้นน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และจัดสร้างระบบสนับสนุนน้ำประปาให้กับชุมชนเมื่อเกิดวิกฤตภัยแล้งในพื้นที่ เป็นต้น

บริษัทฯ กำหนดนโยบายและเป้าหมายเกี่ยวกับการสำรองน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมไว้ว่าต้องมีน้ำดิบสำรองไว้ในแหล่งต่างๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 150 ของความต้องการบริโภคในนิคมอุตสาหกรรมต่อปี ในปี 2566 มีความต้องการใช้น้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ 60.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากปี 2565 บริษัทฯ ได้สำรองน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง จำนวนรวม 17 แห่ง ขนาดความจุรวม 61.2 ล้านลูกบาศก์เมตร และจัดหาแหล่งน้ำสำรองภายนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีน้ำดิบผิวดินสำรองใช้มากกว่าร้อยละ 150 ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมดภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะตลอดทั้งปี ดังนั้นบริษัทฯ จึงไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในนิคมอุตสาหกรรมตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

 

บริษัทฯ รับทราบถึงความคาดหวังและความกังวลใจของผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ จากช่องทางการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ทั้งสองแห่งและชุมชนโดยรอบที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง บริษัทฯ จึงจัดให้มีการสื่อสารเพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำของอมตะแก่ผู้มีส่วนได้เสียดังนี้

  • วันที่ 16 สิงหาคม 2566 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำในปี 2566 ในรูปแบบ Webinar เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะรับทราบ
  • วันที่ 13 ธันวาคม 2566 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดการประชุมใหญ่สมาชิกองค์กรผู้ใช้น้ำ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อรายงานผลการดำเนินการประจำปี 2566
  • วันที่ 15 ธันวาคม 2566 บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้จัดการประชุมใหญ่สมาชิกองค์กรผู้ใช้น้ำ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อรายงานผลการดำเนินการประจำปี 2566

การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีความรับผิดชอบ

การบริหารจัดการน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และมีเป้าหมายในการนำน้ำเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดตามหลักการ Zero Discharge ในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการลดการใช้น้ำดิบผิวดินลงเหลือร้อยละ 60 ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติและสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้หมุนเวียนให้มากขึ้น

จากการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย และการควบคุมคุณภาพการบริหารจัดการน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเสียที่ถูกบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางมีคุณภาพเป็นไปตามค่ามาตรฐานตามที่กำหนดตามประกาศกระทรวงฯ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด (ร้อยละ 100) ในปี 2566 พบว่ามีน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางทั้งสิ้น 24 ล้านลูกบาศก์เมตร บริษัทฯ ใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมด (ร้อยละ 100) กลับมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรม โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วร้อยละ 52 ถูกนำใช้ไปผลิตเป็นน้ำคุณภาพสูงด้วยระบบ water reclamation เพื่อใช้ทดแทนน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วส่วนที่เหลือถูกนำไปใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรม และนำไปใช้ในการดูแลพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 29 และ ร้อยละ 19 ตามลำดับ

การบริหารจัดการน้ำตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และมีเป้าหมายในการนำน้ำเสียที่เกิดขึ้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดตามหลักการ Zero Discharge ในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการลดการใช้น้ำดิบผิวดินลงเหลือร้อยละ 59 ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติและสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้หมุนเวียนให้มากขึ้น 

จากการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย และการควบคุมคุณภาพการบริหารจัดการน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเสียที่ถูกบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางมีคุณภาพเป็นไปตามค่ามาตรฐานตามที่กำหนดตามประกาศกระทรวงฯ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด (ร้อยละ 100) ในปี 2565 พบว่ามีน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางทั้งสิ้น 21.2 ล้านลูกบาศก์เมตร บริษัทฯ ใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมด (ร้อยละ 100) กลับมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรม โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วร้อยละ 57 ถูกนำใช้ไปผลิตเป็นน้ำคุณภาพสูงด้วยระบบ Water Reclamation เพื่อใช้ทดแทนน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วส่วนที่เหลือถูกนำไปใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรม และนำไปใช้ในการดูแลพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 28 และ ร้อยละ 15 ตามลำดับ 

บริษัทฯ ได้ลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตน้ำคุณภาพสูงโดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาผลิตเป็นน้ำคุณภาพสูงโดยการใช้ระบบ reclamation ด้วยเทคโนโลยี reverse osmosis ตั้งแต่ปี 2551 และได้ขยายกำลังการผลิตน้ำคุณภาพสูงด้วยระบบ reclamation อย่างต่อเนื่อง น้ำคุณภาพสูงที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้ทดแทนน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุตสาหกรรมต่อไป ปัจจุบัน ระบบ reclamation มีกำลังการผลิตน้ำคุณภาพสูงรวมทั้งหมด 35,360 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน  ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ สามารถลดการดึงน้ำดิบจากแหล่งน้ำผิวดินมาใช้ลงเหลือ 36.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมด ทำให้บริษัทฯ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำดิบได้ 78.93 ล้านบาทต่อปี

การดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้บริษัทฯ มีน้ำดิบสำรองใช้เพิ่มขึ้นได้อีก 5 เดือน ลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และยังสามารถช่วยสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นหากเกิดวิกฤตภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การขยายกำลังการผลิตระบบ reclamation ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและชุมชมรอบนิคมอุตสาหกรรมในด้านความมั่นคงของแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายในนิคมอุตสาหกรรม ลดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและลดโอกาสในการปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การอนุรักษ์น้ำในสำนักงานและพื้นที่ส่วนกลาง

บริษัทฯ รณรงค์ให้พนักงานในสำนักงานทุกแห่งของอมตะใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยให้ปลูกฝังจิตสำนึกของพนักงานทุกคนให้ร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้น้ำอย่างเหมาะสม โดยจัดทำเป็นโครงการ ALL SAVE ALL WIN มีการสื่อสารด้วยป้ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ต่าง ๆ และอีเมล เช่น รณรงค์ให้ไม่เปิดน้ำประปาทิ้งไว้ระหว่างการทำความสะอาด ตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำในบริเวณอาคารและพื้นที่รอบอาคารเป็นประจำ ตรวจสภาพและซ่อมบำรุงอุปกรณ์และระบบการจ่ายน้ำภายในอาคารให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ นอกจากนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัทฯ ยังมีการนำน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งมาใช้สำหรับล้างขยะบรรจุภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเศษอาหาร ก่อนการนำไปคัดแยกขยะต่อไป

จากการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการใช้น้ำดิบผิวดินและเพิ่มการใช้น้ำรีไซเคิลทั้งหมดในปี 2566 ทำให้บริษัทฯ มีการใช้น้ำผิวดินรวมทั้งสิ้นในนิคมอุตสาหกรรม 36.49 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีอัตราการใช้น้ำต่อหน่วยพื้นที่ที่ดำเนินงานของปี 2566 เท่ากับ 1,096.42 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ หรือ 6,852.65  ลูกบาศก์เมตรต่อเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.34 เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมบางรายมีการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มอัตราการใช้น้ำอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงผู้ประกอบการบางรายที่เคยมีการหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราวมีการกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง เช่น โรงงานในกลุ่มการผลิตแผง solar cell เป็นต้น ซึ่งการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมของโรงงานผู้ประกอบการ อยู่นอกเหนืออำนาจควบคุมของบริษัทฯ

การส่งเสริมการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทฯ ต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจและแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ และตระหนักถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้จากการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ โดยเปิดให้ชุมชนโดยรอบและบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชม เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการน้ำของนิคมอุตสาหกรรม และปลูกฝังจิตสำนึกและความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้แก่ผู้เยี่ยมชม

นับตั้งแต่ที่เปิดดำเนินการศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี มาตั้งแต่ปี 2552 ศูนย์แห่งนี้รองรับการเยี่ยมชมของคณะศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำมาแล้วทั้งสิ้น 400 คณะ รวมจำนวนผู้ที่เคยมาเยี่ยมชมศูนย์บริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น 12,141 คน บริษัทฯ มีเป้าหมายให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลัก เช่น ลูกค้า ชุมชนท้องถิ่น มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำของนิคมอุตสาหกรรมอมตะดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลทั่วไป องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีความสนใจ เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยแจ้งความประสงค์มายังบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด หรือผ่านทางบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)  ในปี 2566 มีผู้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ทั้งสิ้น 1,279 คน แบ่งออกเป็น ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 3 คณะ ผู้สนใจทั่วไปจำนวน 23 คณะ นักเรียน นักศึกษา จำนวน 10 คณะ และหน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น จำนวน 10 คณะ รวมทั้งสิ้น 46 คณะ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถที่บริษัทฯ มีในการช่วยพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานราชการ และชุมชน ในการลดและป้องกันการปล่อยน้ำเสียและของเสียจากชุมชนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และรักษาคุณภาพแหล่งน้ำและพัฒนาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ดีขึ้นร่วมกัน

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes